เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตติยวรรค
[141] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิ
อันเป็นเสี้ยนหนาม ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (1)
คำว่า (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม
อธิบายว่า สักกายทิฏฐิมีวัตถุ 20 เรียกว่า ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ปุถุชนผู้มิได้
สดับ ในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการ
แนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้
รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมองเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา เห็นอัตตาว่ามีรูป
เห็นรูปในอัตตา หรือเห็นอัตตาในรูป
ย่อมมองเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณโดยความ
เป็นอัตตา เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ เห็นวิญญาณในอัตตา หรือเห็นอัตตาในวิญญาณ
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น
ความยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือ
ขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่เป็นความจริง
ว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ 62 นี้ชื่อว่าทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม
คำว่า (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ได้แก่
ประพฤติล่วง คือ ก้าวพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม รวมความว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม
คำว่า ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว อธิบายว่า มรรค 4 เรียกว่า นิยาม
ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :453 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

1. สัมมาทิฏฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ
5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค 4 ประการ ชื่อว่าถึง
นิยาม คือ ถึง ถึงพร้อม บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้ง รวมความว่า ถึงนิยาม
คำว่า ได้เฉพาะมรรคแล้ว อธิบายว่า ได้มรรคแล้ว ได้เฉพาะมรรคแล้ว คือ
บรรลุ ถูกต้อง ทำมรรคให้แจ้งแล้ว รวมความว่า ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
คำว่า เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ อธิบายว่า ญาณ
เกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นพร้อม บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
คือ ญาณเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อม บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏว่า “สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใด
สิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
รวมความว่า เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว
คำว่า ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นไม่ให้ใคร
แนะนำ คือ ไม่ต้องมีใครทำให้เชื่อ ไม่ต้องมีใครเป็นปัจจัย ถึงญาณไม่เกี่ยวข้อง
กับผู้อื่น เป็นผู้ไม่หลงลืม รู้ตัว มีสติตั้งมั่น รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ เป็นผู้ไม่หลงลืม
รู้ตัว มีสติตั้งมั่น รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวง
เป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า เป็นผู้มี
ญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฏฐิ
อันเป็นเสี้ยนหนาม ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :454 }