เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น อธิบายว่า อะไรเป็นภัย เป็นภัยใหญ่
คือ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นสิ่งกระทบกระทั่ง เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคของโลกนั้น
รวมความว่า อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[2] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (2)
ว่าด้วยอวิชชา
คำว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ อธิบายว่า
คำว่า อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้
ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้
ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ในส่วนอดีตและอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาทว่า
เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้
ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอา
โดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความ
ไม่ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :45 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคือ
อวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ข่ายคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้ ตรัสเรียกว่า
อวิชชา1
คำว่า โลก ได้แก่ โลกนรก โลกกำเนิดเดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก
เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก เทวโลก นี้
ตรัสเรียกว่า โลก
โลกนี้ถูกอวิชชานี้โอบล้อม หุ้มห่อ คือ ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้
รวมความว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว

เชิงอรรถ :
1 อภิ.สงฺ. (แปล) 34/1106/282

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :46 }