เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[139] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว(คือธรรม)เป็นผู้ยิ่งใหญ่ อยู่ในป่าตามชอบใจได้
เหมือนนาคะ ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (9)
คำว่า ละทิ้งหมู่ ... เหมือนนาคะ อธิบายว่า ช้างตัวประเสริฐเรียกว่า นาคะ
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ชื่อว่านาคะ เพราะเหตุไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึง
ชื่อว่านาคะ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่ถึง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่
กลับมาหา
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
ตรัสเรียกว่า ความชั่ว
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์เครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ดำรงตนมั่นคงเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า นาคะ1
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/528/437

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :448 }