เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
รวมความว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส อธิบายว่า เพราะเหตุไร โลกจึง
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
รวมความว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องฉาบทา คือ เกี่ยวข้อง ผูกพัน ทำให้โลกนี้เศร้าหมอง
โลกถูกอะไรฉาบ ทา ไล้ ทำให้หมองมัว หมองคล้ำ แปดเปื้อน คละเคล้า เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันไว้ ขอพระองค์โปรดตรัส คือโปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้

เชิงอรรถ :
ธาตุคือรูปารมณ์ (3) จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือจักขุวิญญาณ (4) โสตธาตุ ธาตุคือโสตปสาท (5)
สัททธาตุ ธาตุคือสัททารมณ์ (6) โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือโสตวิญญาณ (7) ฆานธาตุ ธาตุคือฆานปสาท
(8) คันธธาตุ ธาตุคือคันธารมณ์ (9) ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือฆานวิญญาณ (10) ชิวหาธาตุ
ธาตุคือชิวหาปสาท (11) รสธาตุ ธาตคือรสารมณ์ (12) ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือชิวหาวิญญาณ (13)
กายธาตุ ธาตุคือกายปสาท (14) โผฏฐัพพธาตุ ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ (15) กายวิญญาณธาตุ
ธาตุคือกายวิญญาณ (16) มโนธาตุ ธาตุคือมโน (17) ธัมมธาตุ ธาตุคือธรรมารมณ์ (18)
มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือมโนวิญญาณ (อภิ.วิ. (แปล) 35/183-184/142-146)
3 อายตนโลก หมายถึงอายนตนะ 12 คือ (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้)
อายตนะภายใน 6 ได้แก่ (1) ตา (2) หู (3) จมูก (4) ลิ้น (5) กาย (6) ใจ และอายตนะภายนอก
6 ได้แก่ (1) รูป (2) เสียง (3) กลิ่น (4) รส (5) โผฏฐัพพะ (6) ธรรมารมณ์ ทั้ง 6 นี้ เรียกทั่วไปว่า
อารมณ์ 6 คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง (อภิ.วิ. (แปล) 35/154-167/112-118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :44 }