เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงบริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ อธิบายว่า
บุคคลไม่ได้แล้ว คือ ไม่ได้รับแล้ว ไม่ได้สมหวังแล้ว ไม่ได้ประสบแล้ว ไม่ได้เฉพาะ
แล้วซึ่งสหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษเถิด รวมความว่า ถ้าบุคคล
ไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงบริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด(หรือ)ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้
พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[134] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลเห็นกำไลทอง 2 วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (4)
คำว่า บุคคลเห็นกำไลทอง ... อันสุกปลั่ง อธิบายว่า บุคคลเห็น คือ แลเห็น
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า ทอง ได้แก่ ทองคำ
คำว่า อันสุกปลั่ง ได้แก่ บริสุทธิ์ สะอาด รวมความว่า บุคคลเห็นกำไลทอง ...
อันสุกปลั่ง
คำว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี อธิบายว่า คนทำทอง เรียกว่า ช่างทอง
คำว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี อธิบายว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จแล้วอย่างดี
คือ ที่ทำแล้วอย่างดี ที่ขัดเงาดีแล้ว รวมความว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี
คำว่า 2 วง ...กระทบกันอยู่ที่ข้อมือ อธิบายว่า มือเรียกว่า ข้อมือ
กำไล 2 วง ย่อมกระทบกันอยู่ที่มือข้างหนึ่ง ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้นย่อม
กระทบกระทั่งกันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ เบียดเสียดในนรก กำเนิด
เดรัจฉาน เปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก คือ สืบต่อ สืบสานคติด้วยคติ อุปบัติ
ด้วยอุปบัติ ปฏิสนธิด้วยปฏิสนธิ ภพด้วยภพ สงสารด้วยสงสาร วัฏฏะด้วยวัฏฏะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :438 }