เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย 2 อย่าง คือ (1) อันตรายที่ปรากฏ
(2) อันตรายที่ไม่ปรากฏ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ ฯลฯ เหล่านี้
เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ ฯลฯ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่
อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง1
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ
รัดรึง ย่ำยีอันตรายทั้งปวงได้แล้ว รวมความว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
คำว่า พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น พึงมีใจแช่มชื่น คือ มีใจยินดี ร่าเริง เบิกบาน มีใจสูง ปลาบปลื้มใจ
ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
กับสหายผู้มีปัญญารักษาตนนั้น คือ ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีสติ คือ ประกอบ
ด้วยสติอันเป็นปัญญารักษาตน ระลึก ตามระลึกถึงกรรมที่ทำ คำที่พูดไว้นานแล้วได้
รวมความว่า พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว พึงมีใจแช่มชื่น
มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น
[132] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว ฉะนั้น (2)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 128/424-429

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :434 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน อธิบายว่า ถ้าบุคคล
ไม่พึงได้ คือ ไม่พึงได้รับ ไม่พึงสมหวัง ไม่พึงประสบสหายผู้มีปัญญารักษาตน คือ
ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มี
ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญา
รักษาตน
คำว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ ในคำว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็น
นักปราชญ์ ได้แก่ เที่ยวไปร่วมกันได้
คำว่า เป็นสาธุวิหารี อธิบายว่า เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ด้วย
นิโรธสมาบัติ ด้วยผลสมาบัติชื่อว่าสาธุวิหารี1
คำว่า เป็นนักปราชญ์ ได้แก่ เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มี
ปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวม
ความว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
คำว่า เหมือนพระราชา ทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว ทรงประพฤติอยู่
พระองค์เดียว ฉะนั้น อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตัดความกังวลในการครอง
เรือนได้ทั้งหมด ความกังวลด้วยบุตรและภรรยา ความกังวลด้วยญาติ ความกังวล
ด้วยมิตรและอำมาตย์แล้ว ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความกังวลแล้ว ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปรูปเดียว เหมือนกษัตริย์ ผู้ได้รับ
มุรธาภิเษกเป็นพระราชา ชนะสงคราม กำราบปัจจามิตร ได้รับอธิปไตย มีพระคลัง
บริบูรณ์แล้ว ทรงสละแคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง และพระนครที่มีเงิน
ทองมากมาย ทรงปลงพระเกสาและพระมัสสุแล้ว ทรงครองผ้ากาสาวะ เสด็จ
ออกผนวชจากพระราชวังเป็นบรรพชิต ทรงเข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความกังวล ทรง
ประพฤติอยู่ คือ ประทับอยู่ ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ
ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้ดำเนินไปลำพังพระองค์เดียว ฉะนั้น รวมความว่า
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้น ที่ทรงชนะแล้ว ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 131/433

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :435 }