เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย 2 อย่าง คือ (1) อันตรายที่ปรากฏ
(2) อันตรายที่ไม่ปรากฏ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ ฯลฯ เหล่านี้
เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ ฯลฯ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่
อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง1
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ
รัดรึง ย่ำยีอันตรายทั้งปวงได้แล้ว รวมความว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
คำว่า พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น พึงมีใจแช่มชื่น คือ มีใจยินดี ร่าเริง เบิกบาน มีใจสูง ปลาบปลื้มใจ
ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
กับสหายผู้มีปัญญารักษาตนนั้น คือ ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีสติ คือ ประกอบ
ด้วยสติอันเป็นปัญญารักษาตน ระลึก ตามระลึกถึงกรรมที่ทำ คำที่พูดไว้นานแล้วได้
รวมความว่า พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว พึงมีใจแช่มชื่น
มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น
[132] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว ฉะนั้น (2)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 128/424-429

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :434 }