เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[130] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (10)
คำว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า... ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว อธิบายว่า
ผม หนวด ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องแต่งตัว เครื่องประดับ ผ้า ผ้าห่ม
ผ้าโพก ผ้านุ่ง เครื่องอบ เครื่องอาบน้ำ เครื่องนวด คันฉ่อง(กระจก) ยาหยอดตา
พวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ แป้งผัดหน้า สีทาปาก กำไลมือ เครื่อง
ผูกมวยผม ไม้เท้า นาฬิกา ดาบ ร่ม รองเท้าสวยงาม กรอบหน้า ตาบเพชร
(เครื่องประดับข้อมือ) พัดขนสัตว์ ผ้าขาว ผ้าชายยาว ดังนี้เป็นตัวอย่าง ท่านเรียกว่า
เครื่องหมายคฤหัสถ์
คำว่า ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว ได้แก่ ปลง คือ ปลด ทอดทิ้ง ระงับ
เครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
คำว่า เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว อธิบายว่า ใบต้นทองหลาง
ขาด ร่วงหล่น คือ ตก ตกกระจายแล้ว ฉันใด เครื่องหมายคฤหัสถ์ของ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ขาด คือ ร่วงหล่น ตก ตกกระจายแล้ว ฉันนั้น รวมความว่า
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
คำว่า ผู้กล้าหาญ ในคำว่า ผู้กล้าหาญ ... ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีวิริยะ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองอาจ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าให้ผู้อื่นพากเพียร จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าสามารถ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล้าหาญ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :431 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก้าวไปข้างหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง
ไม่หนี ละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าหมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้
ก้าวล่วงทุกข์ในนรก อยู่ด้วยความเพียร มีความเพียร
มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง เรียกได้ว่า เป็นอย่างนั้น
บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา
ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง
และวัตถุที่น่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า เครื่องผูกพันของคฤหัสถ์
คำว่า ผู้กล้าหาญ ... ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้กล้าหาญ ตัด คือ ตัดขาด ละ บรรเทา ทำให้
หมดสิ้นไป ให้ถึง ความไม่มีอีกซึ่งเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์ รวมความว่า ผู้กล้าหาญ
... ตัดเครื่อง ผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วย
เหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ปฐมวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :432 }