เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น1
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ราคะ และโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นต้นเหตุ
ความไม่ยินดีกุศลธรรม
ความยินดีกามคุณ ซึ่งทำให้ขนลุก เกิดจากอัตภาพนี้
บาปวิตก2ในใจ เกิดขึ้นจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกใจคนไว้ เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น3
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพนี้ เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย อธิบายว่า ครอบงำ คือ ทำให้ยินยอม
ท่วมทับ บีบคั้น กำจัดอันตรายทั้งหลาย รวมความว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย
คำว่า ไม่หวาดเสียว อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ขลาด คือ ไม่
หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพอง
สยองเกล้า อยู่ รวมความว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ
ไม่ขัดเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/113/84-85, ขุ.อิติ. 25/50/272, ขุ.ม. (แปล) 29/5/21
2 บาปวิตก คือ ความตรึกเกี่ยวกับเรื่องบาป ความคิดในเรื่องบาป
3 สํ.ส. 15/237/250, ขุ.สุ. 25/274/387, ขุ.ม. (แปล) 29/5/21

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :429 }