เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[128] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ
ไม่ขัดเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (8)
คำว่า ทั้ง 4 ทิศ ในคำว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า แผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ
ไม่ขัดเคือง อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง
ทิศ 2 ฯลฯ ทิศ 3 ฯลฯ ทิศ 4 ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต
ฯลฯ มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง ทิศ 2 ฯลฯ ทิศ 3 ฯลฯ ทิศ 4 ทั้งเบื้องบน
เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่1
คำว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ ไม่ขัดเคือง อธิบายว่า
เพราะพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญเมตตา เหล่าสัตว์ในทิศตะวันออก ก็ไม่เป็น
ที่เกลียดชัง เหล่าสัตว์ในทิศตะวันตก ทิศใต้ ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
(อาคเณย์) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(พายัพ) ทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี) ทิศตะวันออก
เฉียงเหนือ(อีสาน) ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน เหล่าสัตว์ในทิศใหญ่ ทิศน้อย ก็ไม่เป็น
ที่เกลียดชัง เพราะพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญกรุณา ฯลฯ เพราะพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญมุทิตา ฯลฯ เพราะพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญอุเบกขา
เหล่าสัตว์ในทิศตะวันออกก็ไม่เป็นที่เกลียดชัง ฯลฯ เหล่าสัตว์ในทิศใหญ่ทิศน้อย
ก็ไม่เป็นที่เกลียดชัง รวมความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ
ไม่ขัดเคือง

เชิงอรรถ :
1 ที.สี. (แปล) 9/556/244-245, ที.ปา. 11/71/41

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :422 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
คำว่า ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้1 อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมี
ตามได้2 ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิด ที่ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรก็
ไม่กระวนกระวาย และได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ
มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามมีตาม
ได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใด ขยัน ไม่เกียจคร้าน
มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษด้วยจีวรนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้เรียก
ได้ว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้
และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการ
แสวงหาผิด ที่ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย
และได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่อง
สลัดออก บริโภคอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ท่าน
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใด ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว
มีสติกำกับในความสันโดษด้วยบิณฑบาตนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้ เรียกได้ว่า
ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้
และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการ
แสวงหาผิด ที่ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่กระวนกระวาย
และได้เสนาสนะแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่อง
สลัดออก ใช้สอยอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น ท่าน
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น

เชิงอรรถ :
1 ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีจีวรชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาจีวรเนื้อหยาบ เนื้อละเอียด
เศร้าหมอง ประณีต คงทน และเก่าเป็นต้น (ขุ.จู.อ. 128/117)
2 ความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ หมายถึงยินดีจีวรตามที่ได้ (ยถาลาภสันโดษ) ยินดีตามกำลัง (ยถาพล
สันโดษ) ยินดีจีวรตามสมควร (ยถาสารุปปสันโดษ) แม้บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ก็เหมือนกัน (ขุ.จู.อ. 128/117)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :423 }