เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[126] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่
เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (6)
คำว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่ เรื่องการ
ดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก อธิบายว่า การมาสบาย การไปสบาย
การไปการมาสบาย การยืนสบาย การนั่งสบาย การนอนสบาย การทักทายสบาย
การสนทนาสบาย การเจรจาสบาย การสนทนาปราศรัยสบายกับชนเหล่าใด ชน
เหล่านั้น เรียกว่า สหาย
คำว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่ เรื่องการ
ดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก อธิบายว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมี
การปรึกษาเพื่อประโยชน์ตน การปรึกษาเพื่อประโยชน์คนอื่น การปรึกษาเพื่อ
ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย การปรึกษาเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน การปรึกษาเพื่อ
ประโยชน์ในภพหน้า การปรึกษาเพื่อประโยชน์ชั้นยอดเยี่ยม ในเรื่องที่อยู่บ้าง
เรื่องการดำรงตนบ้าง เรื่องการไปบ้าง เรื่องการเที่ยวจาริกบ้าง รวมความว่า
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่อง
การไป เรื่องการเที่ยวจาริก
คำว่า บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรีที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
อธิบายว่า เรื่องที่พวกคนพาล อสัตบุรุษ พวกเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์
ไม่มุ่งหวัง คือ เรื่องการปลงผม และการนุ่งห่มผ้ากาสาวะ (ส่วน)เรื่องที่บัณฑิต
สัตบุรุษ พุทธสาวก พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า มุ่งหวัง คือ เรื่องการปลงผมและการ
นุ่งห่มผ้ากาสาวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :418 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ความเสรี ได้แก่ ความเสรี 2 อย่าง คือ
1. ธรรมเสรี
2. บุคคลเสรี
ธรรมเสรี เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน 4 ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้เรียกว่า ธรรมเสรี1
บุคคลเสรี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเสรีนี้ เรียกว่า บุคคลเสรี
คำว่า บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรีที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
อธิบายว่า บุคคลเพ่งเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาธรรมอันให้ถึง
ความเสรีอยู่ รวมความว่า บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรี ที่พวก
คนพาลไม่มุ่งหวัง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่
เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[127] (พระปัจจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (7)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 125/414

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :419 }