เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
นอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่ได้พบมารใจบาป1” รวมความว่า เนื้อในป่า
มิได้ถูกผูกมัดไว้ ย่อมไปหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
คำว่า วิญญู ในคำว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี ได้แก่
วิญญู คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาเห็นแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ชน ได้แก่ ผู้ข้อง มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์ผู้เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ความเสรี ได้แก่ ความเสรี 2 อย่าง คือ
1. ธรรมเสรี
2. บุคคลเสรี
ธรรมเสรี เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 นี้เรียกว่าธรรมเสรี
บุคคลเสรี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเสรี นี้เรียกว่า บุคคลเสรี
คำว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี อธิบายว่า วิญญูชน
เมื่อเพ่งเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
รวมความว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว
เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมไปหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ม.มู. 12/287/250-251

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :417 }