เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง เพราะปีติหมดสิ้นไป ภิกษุมีแต่อุเบกขา สติและสัมปชัญญะ
และเสวยสุขทางกายอยู่ บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข” เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือเป็นผู้ที่มารใจบาป
มองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เรา
เรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะ
ทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า
“อากาศไม่มีที่สุด” เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจ
บาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “อะไรน้อยหนึ่ง ย่อมไม่มี” ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “นี้สงบ นี้ประณีต” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ฯลฯ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะ
ทั้งหลายของเธอย่อมสิ้นไป ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด
คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
เป็นผู้ข้ามตัณหา ที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :416 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
นอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่ได้พบมารใจบาป1” รวมความว่า เนื้อในป่า
มิได้ถูกผูกมัดไว้ ย่อมไปหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
คำว่า วิญญู ในคำว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี ได้แก่
วิญญู คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาเห็นแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ชน ได้แก่ ผู้ข้อง มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์ผู้เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ความเสรี ได้แก่ ความเสรี 2 อย่าง คือ
1. ธรรมเสรี
2. บุคคลเสรี
ธรรมเสรี เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 นี้เรียกว่าธรรมเสรี
บุคคลเสรี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเสรี นี้เรียกว่า บุคคลเสรี
คำว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี อธิบายว่า วิญญูชน
เมื่อเพ่งเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
รวมความว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว
เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมไปหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ม.มู. 12/287/250-251

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :417 }