เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี... ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อม
ไปได้ อธิบายว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์ คือ อุดหนุน เกื้อกูลมิตร คนใจดี เพื่อน
ที่เห็นกันมา เพื่อนที่คบกันมาและสหาย ย่อมทำให้ประโยชน์ตนเสื่อมไปบ้าง ย่อม
ทำให้ประโยชน์ผู้อื่นเสื่อมไปบ้าง ย่อมทำให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเสื่อมไปบ้าง ย่อม
ทำให้ประโยชน์ในปัจจุบันเสื่อมไปบ้าง ย่อมทำให้ประโยชน์ในภพหน้าเสื่อมไปบ้าง
ย่อมทำให้ประโยชน์อย่างยิ่งเสื่อมไปบ้าง คือ ให้เสียไป ให้สิ้นไป ให้เสื่อมเสีย
สูญหาย สูญหายไป รวมความว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี ... ย่อม
ทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้
คำว่า มีใจผูกพัน อธิบายว่า บุคคลมีใจผูกพันด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. เมื่อวางตนต่ำวางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน
2. เมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่ามีใจผูกพัน
บุคคลเมื่อวางตนต่ำ วางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านมีอุปการะมากแก่อาตมภาพ อาตมภาพอาศัย
พวกท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร คนเหล่าอื่น
อาศัยพวกท่าน เห็นกับพวกท่าน จึงเข้าใจที่จะให้ หรือจะทำแก่อาตมภาพ ชื่อและ
สกุลเก่าของมารดาบิดาของอาตมภาพสูญหายไปหมดแล้ว พวกท่านทำให้อาตมภาพ
เป็นที่รู้จักว่า “อาตมภาพ เป็นพระประจำตระกูลของอุบาสกโน้น เป็นพระประจำ
ตระกูลของอุบาสิกาโน้น” ดังนี้ เมื่อวางตนต่ำ วางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็น
อย่างนี้
บุคคลเมื่อวางตนสูง วางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า อาตมภาพมีอุปการะมากแก่พวกท่าน พวกท่านอาศัย
อาตมภาพแล้ว จึงได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงพระสงฆ์เป็น
ที่พึ่ง เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท เว้นขาด
จากสุราเมรัยอันเป็นของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อาตมภาพบอก
อุทเทส(บาลี)บ้าง ปริปุจฉา(อรรถกถา)บ้าง ศีลบ้าง อุโบสถบ้าง แก่พวกท่าน
อาตมภาพอธิษฐานนวกรรม(ตั้งใจทำการก่อสร้าง) เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกท่านยังทอด
ทิ้งอาตมภาพไป สักการะ เคารพ นับถือ บูชาผู้อื่น เมื่อวางตนสูง วางผู้อื่นต่ำ
ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็นอย่างนี้ รวมความว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :410 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยภัย
คำว่า ภัย ในคำว่า เมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย
พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัตตานุวาทภัย(ภัยเกิดจาก
การติเตียนตน) ปรานุวาทภัย(ภัยเกิดจากการติเตียนของผู้อื่น) ทัณฑภัย(ภัยจาก
อาชญา) ทุคติภัย(ภัยในทุคติ) อูมิภัย(ภัยจากคลื่น) กุมภีลภัย(ภัยจากจระเข้)
อาวัฏฏภัย(ภัยจากน้ำวน) สุงสุมารภัย(ภัยจากปลาร้าย) อาชีวิกภัย(ภัยจากการ
หาเลี้ยงชีพ) อสิโลกภัย(ภัยคือความเสื่อมเสียชื่อเสียง) ปริสสารัชชภัย(ภัยจากความ
ครั่นคร้ามในชุมชน) มทนภัย(ภัยจากความมัวเมา) เหตุที่น่ากลัว ความหวาดเสียว
ขนพองสยองเกล้า ใจหวาดเสียว ความสะดุ้ง
คำว่า ความเชยชิด ได้แก่ ความเชยชิด 2 อย่าง คือ (1) ความเชยชิดด้วย
อำนาจตัณหา (2) ความเชยชิดด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความเชยชิดด้วย
อำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความเชยชิดด้วยอำนาจทิฏฐิ1
คำว่า เมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด อธิบายว่า เมื่อเพ่งเห็น คือ แลเห็น
มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาภัยในความเชยชิดนี้ รวมความว่า เมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นใน
ความเชยชิด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธ-
เจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[124] (พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า)
กอไผ่กว้างใหญ่ เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (4)

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 11/80-81, และข้อ 122/402-403

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :411 }