เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา
เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย
และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย
ทุกข์ของสัตว์นรกก็ดี ทุกข์ของสัตว์ที่เกิดในกำเนิดเดรัจฉานก็ดี ทุกข์ของสัตว์
ที่เกิดในเปตวิสัยก็ดี ทุกข์ของมนุษย์ก็ดี เกิดมาจากอะไร คือ เกิดขึ้นมาจากไหน
บังเกิดมาจากไหน บังเกิดขึ้นมาจากไหน ปรากฏมาจากไหน ความกลัวนี้ ย่อมมี
มีขึ้น เกิด เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย
เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัด
ด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย รวมความว่า ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตาม
ความรัก
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก อธิบายว่า
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก 2 อย่าง คือ (1) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(2) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ1
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก อธิบายว่า เราเมื่อเพ่งเห็น คือ
แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นโทษอันเกิดจากความรัก คือ ความรัก
ด้วยอำนาจตัณหา และความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ รวมความว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษ
อันเกิดจากความรัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตามความรัก
เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในหน้า 402-403

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :408 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[123] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (3)
คำว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี มีใจผูกพัน ย่อมทำ
ประโยชน์ให้เสื่อมไปได้ อธิบายว่า
คำว่า มิตร ได้แก่ มิตร 2 จำพวก คือ
1. อาคาริกมิตร 2. อนาคาริกมิตร
อาคาริกมิตร เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก สละสิ่งที่สละได้ยาก ทำสิ่งที่ทำได้ยาก
ทนสิ่งที่ทนได้ยาก บอกความลับแก่เพื่อน ปกปิดความลับของเพื่อน ไม่ทอดทิ้งใน
คราวมีอันตราย แม้ชีวิตก็สละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ เมื่อเพื่อนสิ้นเนื้อประดาตัว
ก็ไม่ดูหมิ่น นี้ชื่อว่าอาคาริกมิตร
อนาคาริกมิตร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นที่รัก พอใจ เป็นที่เคารพ ควรยกย่อง พูดเป็น
ทนฟังถ้อยคำได้ กล่าวถ้อยคำได้ลึกซึ้ง และไม่ชักนำไปในเรื่องไม่สมควร ชักชวน
(ให้บำเพ็ญ)ในทางอธิสีล ชักชวนให้หมั่นเจริญสติปัฏฐาน 4 ชักชวนให้หมั่นเจริญ
สัมมัปปธาน 4 ฯลฯ อิทธิบาท 4 ฯลฯ อินทรีย์ 5 ฯลฯ พละ 5 ฯลฯ
โพชฌงค์ 7 ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ชื่อว่าอนาคาริกมิตร
คำว่า สหายผู้ใจดี อธิบายว่า การมาสบาย การไปสบาย การไปการมา
สบาย การยืนสบาย การนั่งสบาย การนอนสบาย การทักทายสบาย การสนทนา
สบาย การเจรจาสบาย การสนทนาปราศัยสบายกับชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น
เรียกว่า สหายผู้ใจดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :409 }