เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านใต้
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านเหนือ
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านเหนือ
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านใต้
กองไฟที่น่าสะพรึงกลัว ผุดขึ้นมาจากเบื้องล่าง
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม (ลุกท่วม) ติดหลังคา
กองไฟที่น่าสะพรึงกลัว ลุกขึ้นมาจากหลังคา
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม (ลามลง) กระทบถึงพื้น
อเวจีมหานรก ทั้งข้างล่าง ข้างบน ด้านข้าง
ก็เหมือนกับแผ่นเหล็กที่ถูกไฟเผาลน เร่าร้อนโชติช่วงอยู่เสมอ
สัตว์ทั้งหลายที่หยาบช้ามาก ทำกรรมร้ายแรงมากเสมอ
เป็นผู้มีบาปกรรมโดยส่วนเดียว
มอดไหม้อยู่ในอเวจีมหานรกนั้น แต่ก็ยังไม่ตาย
ร่างกายของสัตว์ที่อยู่ในนรกเหล่านั้น
เหมือนกับไฟที่ไหม้อยู่ ขอเธอจงดูความมั่นคงของกรรมเถิด
ไม่มีเถ้าและเขม่าเลย
สัตว์นรกทั้งหลายวิ่งไปทางตะวันออก
จากตะวันออกนั้น ก็วิ่งไปทางตะวันตก วิ่งไปทางเหนือ
จากทางเหนือนั้น ก็วิ่งไปทางด้านใต้
วิ่งไปยังทิศใด ๆ ประตูนั้น ๆ ก็ปิดเสีย สัตว์เหล่านั้น
มีความหวังจะออกไป จึงเที่ยวแสวงหาทางออกอยู่เสมอ
สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถจะออกไปจากมหานรกนั้น
เพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะสัตว์เหล่านั้นทำกรรมชั่วร้ายไว้มาก
ยังให้ผลไม่หมดสิ้น1

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/170/480-484

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :407 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา
เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย
และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย
ทุกข์ของสัตว์นรกก็ดี ทุกข์ของสัตว์ที่เกิดในกำเนิดเดรัจฉานก็ดี ทุกข์ของสัตว์
ที่เกิดในเปตวิสัยก็ดี ทุกข์ของมนุษย์ก็ดี เกิดมาจากอะไร คือ เกิดขึ้นมาจากไหน
บังเกิดมาจากไหน บังเกิดขึ้นมาจากไหน ปรากฏมาจากไหน ความกลัวนี้ ย่อมมี
มีขึ้น เกิด เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย
เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัด
ด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย รวมความว่า ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตาม
ความรัก
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก อธิบายว่า
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก 2 อย่าง คือ (1) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(2) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ1
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก อธิบายว่า เราเมื่อเพ่งเห็น คือ
แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นโทษอันเกิดจากความรัก คือ ความรัก
ด้วยอำนาจตัณหา และความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ รวมความว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษ
อันเกิดจากความรัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตามความรัก
เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในหน้า 402-403

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :408 }