เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
4. ความประพฤติสัมมากัมมันตะ ชื่อว่าสมุฏฐานจริยา(ความประพฤติด้วย
ความหมั่น)
5. ความประพฤติสัมมาอาชีวะ ชื่อว่าโวทานจริยา(ความประพฤติด้วยความ
ผ่องแผ้ว)
6. ความประพฤติสัมมาวายามะ ชื่อว่าปัคคหจริยา(ความประพฤติด้วยการ
ประคองความเพียร)
7. ความประพฤติสัมมาสติ ชื่อว่าอุปัฏฐานจริยา(ความประพฤติด้วยการ
เข้าไปตั้งสติ)
8. ความประพฤติสัมมาสมาธิ ชื่อว่าอวิกเขปจริยา(ความประพฤติด้วยความ
ไม่ฟุ้งซ่าน)
เหล่านี้ ชื่อว่าความประพฤติ 8 อย่าง
คำว่า เหมือนนอแรด อธิบายว่า ธรรมดาแรด ย่อมมีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง
ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็เหมือนนอแรดนั้น คือ เช่นเดียวกับนอแรดนั้น
เปรียบได้กับนอแรดนั้น
รสเค็มจัด คนพูดกันว่าเหมือนเกลือ รสขมจัด พูดกันว่าเหมือนดี รสหวานจัด
พูดกันว่าเหมือนน้ำผึ้ง ร้อนจัด พูดกันว่าเหมือนไฟ เย็นจัด พูดกันว่าเหมือนน้ำแข็ง
ปริมาณน้ำมีมาก พูดกันว่าเหมือนทะเล พระสาวกผู้บรรลุอภิญญาและพละอันยิ่ง
ใหญ่ พูดกันว่า เหมือนพระศาสดา ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็ฉันนั้น เหมือน
นอแรดนั้น เป็นเช่นเดียวกับนอแรดนั้น เปรียบได้กับนอแรดนั้น ในข้อนั้น เป็นผู้เดียว
คือ ไม่มีเพื่อน พ้นจากเครื่องผูกพัน ย่อมประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปโดยชอบ ในโลก รวมความว่า จึงประพฤติ
อยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :401 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[122] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตามความรัก
เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (2)
คำว่า ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง อธิบายว่า
คำว่า ความเกี่ยวข้อง ได้แก่ ความเกี่ยวข้อง 2 อย่าง คือ
1. ความเกี่ยวข้องเพราะการเห็น
2. ความเกี่ยวข้องเพราะการได้ยิน
ความเกี่ยวข้องเพราะการเห็น เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ เห็นสตรีหรือกุมารี ผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม เพียบพร้อม
ด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ครั้นพบเห็นแล้ว ย่อมแยกถือว่า ผมงาม
หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ปากงาม คองาม
นมงาม อกงาม ท้องงาม เอวงาม ขาอ่อนงาม แข้งงาม มืองาม เท้างาม นิ้วงาม
เล็บงาม คือ ครั้นพบเห็นแล้ว ก็พอใจ พร่ำเพ้อถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพัน
ด้วยความกำหนัด นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะการเห็น
ความเกี่ยวข้องเพราะการได้ยิน เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ได้ยินว่า “ในหมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้น มีสตรี หรือ
กุมารี รูปงาม น่าดู น่าชม เพียบพร้อมด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง” ครั้น
ได้ยิน ได้ฟังแล้ว ก็พอใจ พร่ำเพ้อถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยความกำหนัด
นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะการได้ยิน
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก 2 อย่าง คือ (1) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(2) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ
ความรักด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ
ว่าเป็นของเราด้วยสัดส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :402 }