เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไปถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ตรัสเรียกว่า ทางสายเอก
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้เห็นธรรมอันเป็นส่วนที่สุดสิ้นแห่งชาติ
อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูล
รู้จักมรรคอันเป็นทางสายเอก
ซึ่งเหล่าบัณฑิตได้ข้ามมาก่อนแล้ว
จักข้าม และกำลังข้ามโอฆะได้ด้วยมรรคนี้1
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไปถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว เป็นอย่างนี้

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรปัจเจกสัมโพธิญาณลำพังผู้เดียว จึง
ชื่อว่าผู้เดียว เป็นอย่างไร
คือ ญาณในมรรคทั้ง 4 ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ วิมังสา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เรียกว่า โพธิ
ด้วยปัจเจกโพธิญาณนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า “สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

ตรัสรู้ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี


เชิงอรรถ :
1 สํ.ม. 19/384/146,409/162, ขุ.ม. (แปล) 29/191/549

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :397 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี”
ตรัสรู้ว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ”

ตรัสรู้ว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้
อาสวะ นี้อาสวะสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้คือธรรมที่
ควรรู้ยิ่ง เหล่านี้คือธรรมที่ควรละ เหล่านี้คือธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง เหล่านี้คือ
ธรรมที่ควรเจริญ ตรัสรู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้ง ผัสสายตนะ 6
ตรัสรู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้งอุปาทานขันธ์ 5 ตรัสรู้เหตุเกิด
เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้งมหาภูตรูป 4”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :398 }