เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า โทษ ได้แก่ โทษ 3 อย่าง คือ
1. โทษทางกาย 2. โทษทางวาจา
3. โทษทางใจ
กายทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าโทษทางกาย
วจีทุจริต 4 อย่าง ชื่อว่าโทษทางวาจา
มโนทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าโทษทางใจ
คำว่า บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก อธิบายว่า ยก คือ ทิ้ง ปลง ปลด
ทอดทิ้ง ระงับโทษในสัตว์ทุกจำพวก รวมความว่า บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
คำว่า ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น อธิบายว่า
ไม่เบียดเบียนสัตว์แม้แต่ผู้เดียว ด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา โซ่ตรวน หรือ
เชือก ไม่เบียดเบียนสัตว์แม้ทุกจำพวก ด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา โซ่ตรวน
หรือเชือก รวมความว่า ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
คำว่า ไม่ ในคำว่า ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า บุตร ได้แก่ บุตร 4 จำพวก คือ
1. บุตรเกิดจากตน 2. บุตรเกิดในเขต
3. บุตรที่เขาให้ 4. บุตรที่อยู่ในสำนัก
คำว่า สหาย อธิบายว่า การมาสบาย การไปสบาย การไปการมาสบาย การ
ยืนสบาย การนั่งสบาย การนอนสบาย การทักทายสบาย การสนทนาสบาย การ
เจรจาสบาย การสนทาปราศรัยสบายกับชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น เรียกว่า สหาย
คำว่า ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า อธิบายว่า
ไม่ต้องการ คือ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังบุตรเลย พึงต้องการ
คือ พึงยินดี พึงปรารถนา พึงมุ่งหมาย พึงมุ่งหวังมิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบหรือ
สหายจากไหนเล่า รวมความว่า ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจาก
ไหนเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :394 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้เดียว
คำว่า ผู้เดียว ในคำว่า พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้เดียว เพราะส่วนแห่งการบรรพชา
ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่า ละตัณหาได้
ท่านปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ไปถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว
ตรัสรู้อนุตตรปัจเจกสัมโพธิญาณ ลำพังผู้เดียว จึงชื่อว่าผู้เดียว
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้เดียว เพราะส่วนแห่งการบรรพชา เป็นอย่างไร
คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตัดความกังวลในการครองเรือนทั้งหมด ตัด
ความกังวลด้วยบุตรและภรรยา ความกังวลด้วยญาติ ความกังวลด้วยการ
สั่งสม ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสาวะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็น
ผู้ไม่มีกังวล เป็นผู้เดียว ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป
ยังชีวิตให้ดำเนินไป ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะส่วนแห่ง
การบรรพชา เป็นอย่างนี้
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่าไม่มีเพื่อน เป็นอย่างไร
คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น บวชแล้วอย่างนี้ ใช้สอยเสนาสนะ ที่เป็นป่าทึบ
และป่าละเมาะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของ
ผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นตามลำพังผู้เดียว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :395 }