เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ อธิบายว่า นิพพาน อันราคะ โทสะ
โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ
สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความ
เร่าร้อนทุกอย่าง อาสวะทุกชนิด ความกระวนกระวายทุกอย่าง ความเดือดร้อน
ทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท นำไปไม่ได้ คือ เป็นของเที่ยง มั่นคง แน่แท้
มีการไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา รวมความว่า สภาวะนั้นอันอะไร นำไปมิได้
คำว่า ไม่กำเริบ อธิบายว่า อมตนิพพาน ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส
เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า (สภาวะ) ไม่กำเริบ
ความเกิดขึ้นแห่งนิพพาน ไม่ปรากฏ ความเสื่อมไม่มี ความเป็นอย่างอื่นของ
นิพพานนั้น ก็ไม่ปรากฏ นิพพานจึงเป็นสภาวะเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผัน
ไปเป็นธรรมดา รวมความว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
คำว่า ใด ในคำว่า สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ได้แก่ นิพพาน
คำว่า ไม่มีอะไร ๆ... เปรียบได้ ได้แก่ ไม่มีอะไรเปรียบได้ คือ ไม่มีข้อ
เปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอเหมือน ไม่มีส่วนเปรียบเทียบ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้
คำว่า ที่ไหน ได้แก่ ที่ไหน คือ ในที่ไหน ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือ
ทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
คำว่า แน่แท้ ในคำว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยใน
สภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า เป็นคำกล่าวนัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่
สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น 2 นัย เป็นคำกล่าว
โดยไม่เป็น 2 อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดยไม่ผิด โดยไม่พลาด
คำว่า แน่แท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า ข้าพระองค์จักถึง ได้แก่ จักถึง คือ จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้ง
รวมความว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :391 }