เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
[113] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท
ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้า
พระองค์นั้น (12)
คำว่า อาตมภาพ...ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือน
เห็นด้วยตา อธิบายว่า อาตมภาพย่อมเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณา
เห็นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เหมือนคนตาดี พึงมองเห็น คือ แลเห็น มองดู
พิจารณาเห็นรูปทั้งหลายในที่แจ้ง ฉะนั้น รวมความว่า อาตมภาพ...ย่อมเห็น
พระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
คำว่า ท่านพราหมณ์ ...ไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน อธิบายว่า
อาตมภาพเจริญพุทธานุสสติด้วยใจทั้งกลางคืนและกลางวัน ชื่อว่าไม่ประมาท รวม
ความว่า ท่านพราหมณ์ ...ไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน
คำว่า นอบน้อมอยู่ ในคำว่า นอบน้อมอยู่ตลอดราตรี อธิบายว่า อาตมภาพ
นอบน้อมอยู่ คือ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกาย วาจา ใจ ปฏิบัติเอื้อ
ประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ได้แก่ ให้คืนและวันผ่านไป ให้ล่วง
ไป(ด้วยการปฏิบัติ) รวมความว่า นอบน้อมอยู่ตลอดราตรี
คำว่า อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อธิบายว่า อาตมภาพเมื่อเจริญด้วยพุทธานุสสตินั้น ย่อมเข้าใจพระพุทธเจ้าพระองค์
นั้นว่า มิได้อยู่ปราศจาก ย่อมเข้าใจ คือ รู้ ทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทง
ตลอดอย่างนี้ว่า มิได้อยู่ปราศจากแล้ว รวมความว่า อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่
ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :376 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท
ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[114] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล (13)
คำว่า สัทธา ในคำว่า สัทธา ปีติ มนะ และสติ อธิบายว่า สัทธา
ความเชื่อ ความกำหนด ความเลื่อมใส สัทธา คือ สัทธินทรีย์ สัทธาพละ ปรารภ
พระผู้มีพระภาค
คำว่า ปีติ ได้แก่ ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความชื่นใจ ความบันเทิง
ความเบิกบาน ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความมีใจสูง
ความมีใจแช่มชื่น ความที่ใจเลื่อมใสยิ่ง
คำว่า มนะ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ1 อันเกิดจากวิญญาณขันธ์นั้นปรารภ
พระผู้มีพระภาค
คำว่า สติ ได้แก่ สติ ความระลึกถึง สัมมาสติปรารภพระผู้มีพระภาค รวม
ความว่า สัทธา ปีติ มนะ และสติ
คำว่า ธรรมเหล่านี้ ... ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดม อธิบายว่า
ธรรม 4 อย่างเหล่านี้ ย่อมไม่หายไป คือ ไม่ไป ไม่ละไป ไม่สูญหายไป จากศาสนา

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/68

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :377 }