เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ในกาลทุกครั้ง ไม่มีลำดับอื่นคั่น มิใช่ในภพหน้า มิใช่ในปรโลก จึงชื่อว่า ไม่ขึ้น
กับกาลเวลา อย่างนี้ รวมความว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตราย อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
ตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ได้แก่ เป็นที่สิ้นตัณหา คือ เป็นที่สิ้นราคะ สิ้นโทสะ
สิ้นโมหะ สิ้นคติ สิ้นอุปบัติ สิ้นปฏิสนธิ สิ้นภพ สิ้นสงสาร สิ้นวัฏฏะ
คำว่า ไม่มีอันตราย อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร เรียกว่า อันตราย
อธิบายว่า (ธรรมที่เป็นเครื่อง) ละอันตราย เข้าไปสงบอันตราย สลัดทิ้งอันตราย
ระงับอันตราย คืออมตนิพพาน รวมความว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตราย
คำว่า ใด ในคำว่า ธรรมใด ไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ได้แก่ นิพพาน
คำว่า ไม่มีอะไร ๆ ...เปรียบได้ ได้แก่ ไม่มีอะไร ๆ เปรียบได้ คือ ไม่มีข้อ
เปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอเหมือน ไม่มีส่วนเปรียบเทียบ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หา
ไม่ได้เลย
คำว่า ที่ไหน ได้แก่ ที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือทั้ง
ภายในและภายนอก รวมความว่า ธรรมใด ไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์พาวรีนั้นจึงกล่าวว่า
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน
[111] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (10)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :372 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น อธิบายว่า
อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก คือ มิได้ออกไป มิได้หลีกไป มิได้อยู่เว้นจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น รวมความว่า อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้า
พระองค์นั้น
คำว่า ท่านพราหมณ์... สิ้นกาลชั่วครู่ อธิบายว่า สิ้นกาลชั่วครู่ คือ
ชั่วขณะหนึ่ง ชั่วระยะหนึ่ง ชั่ววัยหนึ่ง ชั่วช่วงหนึ่ง รวมความว่า สิ้นกาลชั่วครู่
คำว่า ท่านพราหมณ์ เป็นคำที่พระปิงคิยเถระเรียกพราหมณ์พาวรีผู้เป็นลุง
โดยเคารพ
คำว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ อธิบายว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจ
ภูริ คือ มีพระญาณปรากฏ มีพระปัญญาเป็นธงชัย มีพระปัญญาเป็นยอดธง มี
พระปัญญาเป็นใหญ่ มากด้วยการเลือกเฟ้น มากด้วยความตรวจสอบ มากด้วย
ปัญญาเพ่งพินิจ มีธรรมเป็นเครื่องพิจารณา อยู่ด้วยธรรมแจ่มแจ้ง เที่ยวไปด้วย
ปัญญานั้น มากด้วยปัญญานั้น หนักในปัญญานั้น เอนไปในปัญญานั้น โอนไปใน
ปัญญานั้น โน้มไปในปัญญานั้น น้อมใจเชื่อในปัญญานั้น มีปัญญานั้นเป็นใหญ่
รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
คำว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ อธิบายว่า แผ่นดินท่านเรียกว่า ภูริ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญากว้างขวาง แผ่ไปเสมอด้วยแผ่นดินนั้น
ปัญญาท่านเรียกว่า เมธา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น
พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่ามีพระปัญญาดุจภูริ รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญา
ดุจภูริ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :373 }