เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะส่วนแห่งการบรรพชา เป็น
อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคยังทรงหนุ่มแน่น มีพระเกสาดำสนิทดี เพียบพร้อมด้วย
ความหนุ่มฉกรรจ์ในปฐมวัย เมื่อพระชนกและพระชนนี มีน้ำพระเนตรนอง
พระพักตร์ ทรงกันแสงร่ำไห้ ไม่ปรารถนา (ให้ผนวช) ทรงละหมู่พระญาติ ทรงตัด
ความกังวลในการครองเรือน ความกังวลด้วยพระโอรสและพระมเหสี ความกังวล
ด้วยพระญาติ ความกังวลด้วยพระสหายและอำมาตย์ ความกังวลด้วยการสั่งสม
ทุกอย่าง ทรงปลงพระเกสาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวะ เสด็จออกผนวชจาก
พระราชวังเป็นบรรพชิต ทรงเข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความกังวล ทรงประพฤติอยู่
ประทับอยู่ ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป
ทรงยังชีวิตให้ดำเนินไปตามลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เพราะส่วนแห่งการบรรพชา เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผนวชแล้วอย่างนี้ ทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็น
ป่าทึบและป่าละเมาะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไป
มาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นตามลำพัง
พระองค์เดียว พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จไปพระองค์เดียว ประทับยืน
พระองค์เดียว ประทับนั่งพระองค์เดียว บรรทมพระองค์เดียว เสด็จเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อ
บิณฑบาตพระองค์เดียว เสด็จไปพระองค์เดียว เสด็จกลับพระองค์เดียว ประทับนั่ง
ในที่ลับพระองค์เดียว ตั้งพระทัยจงกรมพระองค์เดียว ทรงประพฤติ ประทับอยู่ ทรง
เปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้
ดำเนินไปลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะ
อธิบายว่า ไม่มีเพื่อนเป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :363 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่าทรงละตัณหาได้
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงเป็นเอกบุรุษ ไม่ทรงมีเพื่อนสอง
อย่างนี้ ไม่ทรงประมาท ทรงมีความเพียร ตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวอยู่ ทรงตั้งความเพียร
ครั้งใหญ่ ณ โคนต้นโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาผู้
ชั่วร้าย ซึ่งกีดกันมหาชนไม่ให้หลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ทรงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหาที่เป็นดุจตาข่าย ซ่านไปเกาะเกี่ยวอารมณ์
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้แล้ว รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดแห่งทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่1
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละราคะได้แล้ว
จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโทสะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโมหะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็น
เอกบุรุษ
ทรงปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละเหล่ากิเลสได้แล้ว จึงชื่อว่าทรง
เป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 องฺ.จตุกฺก.(แปล) 21/9/15,257/374, ขุ.อิติ. 25/105/324, ขุ.ม.(แปล) 29/191/547-550

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :364 }