เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ทรงมีชื่อตามความจริง ในคำว่า ท่านพราหมณาจารย์... ทรงมีชื่อ
ตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว อธิบายว่า ทรงมีชื่อตามความจริง คือ
มีพระนามเช่นเดียวกัน ทรงมีชื่อที่มีความหมายอย่างเดียวกัน มีพระนามเช่นเดียว
กับความจริง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี พระผู้มีพระภาคพระ
นามว่าสิขี พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกนาคมนะ พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ พระผู้-
มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น มีพระนามเช่นเดียวกัน คือ ทรงมีชื่อที่มีความหมาย
อย่างเดียวกัน แม้พระผู้มีพระภาคศากยมุนี ก็มีพระนามเช่นเดียวกัน คือ ทรงมีชื่อ
ที่มีความหมายอย่างเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ฉะนั้น พระพุทธ-
เจ้า จึงชื่อว่าทรงมีชื่อตามความจริง1
คำว่า ท่านพราหมณาจารย์... อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว อธิบายว่า พระผู้
มีพระภาคพระองค์นั้น อาตมภาพเข้าไปใกล้ ได้เข้าเฝ้ามาแล้ว คือ เข้าไปนั่งใกล้
ได้ทูลถาม ได้ทูลถามปัญหาแล้ว รวมความว่า ท่านพราหมณาจารย์...อาตมภาพ
ได้เข้าเฝ้ามาแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยะเถระจึงกล่าวว่า
ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว
[105] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่
ที่มีผลไม้มากฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ (4)

เชิงอรรถ :
1 ทรงมีชื่อว่าตามความจริงในที่นี้หมายความว่าพระผู้มีพระภาคมีพระนามไม่วิปริตแสดงพระคุณเป็นเอก
แท้จริง (ขุ.จู.อ. 104/87)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :358 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ ที่มีผลไม้มากฉันใด
อธิบายว่า นกเรียกว่า ทิชะ เพราะเหตุไร นกจึงเรียกว่า ทิชะ ทิชะเกิด 2 ครั้ง
คือ จากท้องแม่ และจากฟองไข่ จึงชื่อว่าทิชะ เพราะเหตุนั้น นกจึงเรียกว่า ทิชะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่าทิชะ
คำว่า ละป่าเล็กแล้ว ... ฉันใด อธิบายว่า นกละทิ้ง ล่วง ก้าวล่วง ล่วงเลย
ป่าเล็ก คือ ป่าน้อย ที่มีผลไม้น้อย มีอาหารน้อย มีน้ำน้อย ไปถึง ประสบ ได้ป่า คือ
ป่าทึบใหญ่อื่น ที่มีผลไม้มาก มีอาหารมาก มีน้ำมากอยู่ในป่าทึบนั้น ฉันใด รวม
ความว่า ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ ที่มีผลไม้มาก ฉันใด
คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ เป็นคำที่ทำให้การเปรียบเทียบ
สมบูรณ์
คำว่า ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ อธิบายว่า พราหมณ์พาวรี และ
พราหมณ์เหล่าอื่น ที่เป็นอาจารย์ของพราหมณ์พาวรีนั้น เปรียบเทียบกับพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า ชื่อว่ามีทรรศนะแคบ คือ มีทรรศนะต่ำต้อย มีทรรศนะนิดหน่อย
มีทรรศนะต่ำทราม มีทรรศนะน่ารังเกียจ หรือมีทรรศนะหยาบ อาตมภาพ ละ ทิ้ง
ล่วง ก้าวล่วง ล่วงเลยพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งมีทรรศนะแคบ คือ มีทรรศนะต่ำต้อย
มีทรรศนะนิดหน่อย มีทรรศนะต่ำทราม มีทรรศนะน่ารังเกียจ มีทรรศนะหยาบ
มาพบ คือ ประสบ ได้เฉพาะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้มีทรรศนะหาประมาณมิได้
มีทรรศนะเลิศ ทรรศนะประเสริฐสุด ทรรศนะวิเศษสุด ทรรศนะชั้นแนวหน้า
ทรรศนะสูงสุด ทรรศนะยอดเยี่ยม ไม่มีใครเสมอ ไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีใคร
เปรียบเทียบได้ ไม่มีใครเทียบเทียมได้ ไม่มีบุคคลผู้มีส่วนเปรียบเหมือน ทรงเป็น
เทพยิ่งกว่าเทพ ทรงองอาจกว่านรชน ทรงเป็นบุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจ
พญาช้าง ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษแกล้วกล้า ทรงเป็นบุรุษรับภาระ มี
พระทศพลญาณ ทรงมั่นคง
พญาหงส์พึงไปถึง ประสบ ได้เฉพาะสระใหญ่ที่มนุษย์สร้างไว้ สระอโนดาต
หรือมหาสมุทร มีน้ำที่ไม่กระเพื่อม มีน้ำนับประมาณมิได้ ฉันใด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :359 }