เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ความลบหลู่ ได้แก่ ความลบหลู่ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่
ความแข็งกระด้าง กรรมคือความแข็งกระด้าง นี้เรียกว่า ความลบหลู่
ความถือตัวและความลบหลู่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าทรงละความถือตัวและความ
ลบหลู่ รวมความว่า ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้
คำว่า ณ บัดนี้ ในคำว่า อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ ที่ประกอบด้วยการ
สรรเสริญ... ณ บัดนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์
เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ณ บัดนี้
เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยการสรรเสริญ อธิบายว่า
อาตมภาพจักกล่าว คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศถ้อยคำ คือ วาจา คำที่เป็นแนวทาง การเปล่งวาจาที่ประกอบ ประกอบ
พร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยการ
สรรเสริญ รวมความว่า ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยการสรรเสริญ
ณ บัดนี้ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ
ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้
[104] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว (3)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :354 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด ในคำว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้กำจัด
ความมืด มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงกำจัด คือ ทำให้
เบาบาง ลด บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความมืดเพราะราคะ
ความมืดเพราะโทสะ ความมืดเพราะโมหะ ความมืดเพราะมานะ ความมืดเพราะ
ทิฏฐิ ความมืดเพราะกิเลส ความมืดเพราะทุจริต ซึ่งทำให้เป็นคนตาบอด ทำให้
ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณอันดับปัญญา เป็นไปในฝ่ายแห่งความลำบาก ไม่เป็นไป
เพื่อนิพพาน รวมความว่า ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด
คำว่า พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาค ฯลฯ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้
เป็นสัจฉิกาบัญญัติ1
คำว่า มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า
สมันตจักขุ ฯลฯ พระตถาคต ชื่อว่ามีสมันตจักขุ ด้วยจักษุนั้น รวมความว่า
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
คำว่า ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด อธิบายว่า
คำว่า โลก อธิบายว่า โลก 1 คือ ภวโลก2
โลก 2 คือ ภวโลกที่เป็นสมบัติและภวโลกที่เป็นวิบัติ
โลก 3 คือ เวทนา3 3
โลก 4 คืออาหาร4 4

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48
2 ภวโลก ได้แก่โลกคือภพ วิบากอันเป็นไปในภูมิทั้ง 3 (ขุ.จู.อ. 104/85)
3 เวทนา 3 ได้แก่สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา (ขุ.จู.อ. 104/85)
4 อาหาร 4 ได้แก่ (1) กพฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว (2) ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ (3) มโนสัญ-
เจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา (4) วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ 19
ประเภท (ขุ.จู.อ. 104/85)
ผัสสะ เรียกว่าอาหารเพราะนำมาซึ่งเวทนา (ขุ.จู.อ. 104/85)
มโนสัญญเจตนา เรียกว่าอาหารเพราะนำมาซึ่งภพ 3 (ขุ.จู.อ. 104/85)
วิญญาณ เรียกว่าอาหารเพราะนำมาซึ่งนามรูป ในขณะปฏิสนธิ (ขุ.จู.อ. 104/86)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :355 }