เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
4. ปิดบังทิฏฐิ
5. ปิดบังความพอใจ
6. ปิดบังความชอบใจ
7. ปิดบังความสำคัญ
8. ปิดบังความจริง ฯลฯ
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ 8 อย่างเหล่านี้ เพราะเหตุอะไร คนจึงกล่าวคำมุสา
คือ พูด แสดง ชี้แจงคำมุสา รวมความว่า จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
(พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
[103] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ
ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ (2)
คำว่า ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า มลทิน อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่ามลทิน โทสะ ชื่อว่ามลทิน โมหะ
ชื่อว่ามลทิน มานะ ชื่อว่ามลทิน ทิฏฐิ ชื่อว่ามลทิน กิเลส ชื่อว่ามลทิน ทุจริต
ทุกอย่างและกรรมที่นำไปสู่ภพทั้งปวง ชื่อว่ามลทิน

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/54/185-186

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :350 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า โมหะ อธิบายว่า ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ อวิชชาเป็นดุจลิ่มสลัก
อกุศลมูลคือโมหะ นี้ท่านเรียกว่า โมหะ
มลทินและโมหะ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
รวมความว่า ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
คำว่า ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ อธิบายว่า

ว่าด้วยความถือตัวมีนัยต่าง ๆ
คำว่า ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง
ความถือตัว 2 นัย คือ
1. การยกตน 2. การข่มผู้อื่น
ความถือตัว 3 นัย คือ
1. ความถือตัวว่า เราเลิศกว่าเขา 2. ความถือตัวว่า เราเสมอเขา
3. ความถือตัวว่า เราด้อยกว่าเขา
ความถือตัว 4 นัย คือ
1. เกิดความถือตัวเพราะลาภ
2. เกิดความถือตัวเพราะยศ
3. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ
4. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
ความถือตัว 5 นัย คือ
1. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ
2. ความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ
3. ความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :351 }