เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 6. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
กิเลส ขันธ์ และอภิสังขารเรียกว่า ที่มิใช่ฝั่ง
คำว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ อธิบายว่า พึงถึงฝั่ง คือ บรรลุฝั่ง ถูก
ต้องฝั่ง ทำให้แจ้งฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่งได้ รวมความว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ ด้วย
เหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า
การพยากรณ์ปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
[101] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
(เพราะ) มรรคนั้น (เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่าปารายนะ (7)
คำว่า จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร
เรียกว่า ที่มิใช่ฝั่ง
อมตนิพพาน คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า ฝั่ง
คำว่า จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ อธิบายว่า พึงถึงฝั่ง คือ บรรลุฝั่ง ถูกต้องฝั่ง
ทำให้แจ้งฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่งได้ รวมความว่า จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
คำว่า มรรค ในคำว่า เมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8
คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ1 เรียกว่า มรรค
คำว่า อันสูงสุด ได้แก่ เลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด
ยอดเยี่ยม รวมความว่า มรรคอันสูงสุด

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 99/342

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :344 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 6. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
คำว่า เมื่อเจริญ ได้แก่ เมื่อเจริญ คือ เมื่อเสพคุ้น ทำให้มาก รวมความว่า
เมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
คำว่า (เพราะ) มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง ได้แก่
มรรค ปันถะ ปถะ ปัชชะ อัญชสะ วฏุมายนะ
นาวา อุตตรเสตุ กุลละ ภิสิ และสังกมะ
คำว่า (เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง ได้แก่ (เป็นไป) เพื่อให้ถึงฝั่ง คือ เพื่อบรรลุ
ถึงฝั่ง เพื่อตามบรรลุให้ถึงฝั่ง เพื่อข้ามชราและมรณะ รวมความว่า (เพราะ)มรรคนั้น
(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่าปารายนะ
อธิบายว่า เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น
ได้แก่ อมตนิพพาน อันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็น
ที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า ฝั่ง
มรรค เรียกว่า อายนะ
คำว่า ว่า เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ว่า นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลัง
เข้าด้วยกัน รวมความว่า เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่าปารายนะ ด้วยเหตุนั้น
พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า
บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่าปารายนะ
ปารายนัตถุติคาถานิทเทสที่ 17 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :345 }