เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 16. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ละตัณหาเสียให้ได้ อธิบายว่า ละตัณหา คือ ละทิ้งตัณหา ละตัณหา
ให้หมด ทำตัณหาให้หมดสิ้นไป ทำให้ตัณหาถึงความไม่มีอีก
คำว่า เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป อธิบายว่า รูปของเธอพึงดับในภพนี้แหละ ฉันใด
ปฏิสนธิภพไม่พึงบังเกิดอีกในกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ
ปัญจโวการภพ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร หรือวัฏฏะต่อไป ได้แก่
ไม่พึงเกิด ไม่พึงเกิดขึ้น ไม่พึงบังเกิด ไม่พึงบังเกิดขึ้น คือ ดับ เข้าไปสงบ
ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในภพนี้เอง รวมความว่า ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะ
ไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิดขึ้น
แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันมากับพราหมณ์และพราหมณ์นั้นก็ได้เกิดธรรมจักษุไร้ธุลี
ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วน
มีความดับไปเป็นธรรมดา” หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม
และหนวด ของท่านก็หายไป พร้อมกับการได้ธรรมจักษุ ท่านได้เป็นภิกษุมี
ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร เพื่อการปฏิบัติเอื้อประโยชน์
จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทสที่ 16 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :332 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 6. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
6. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส1
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[93] (พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้ จึงได้
กล่าวไว้ดังนี้ว่า)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ 16 คน ผู้เป็น
ศิษย์ใกล้ชิด ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว
คำว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว ได้แก่ ได้ตรัสปารายนวรรคนี้แล้ว
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถา
นี้แล้ว
คำว่า เมื่อประทับอยู่ ... แคว้นมคธ ได้แก่ ในชนบทที่ชื่อว่ามคธ
คำว่า เมื่อประทับอยู่ ได้แก่ เมื่อประทับอยู่ คือ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป
ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไป
คำว่า ณ ปาสาณกเจดีย์ ได้แก่ พุทธอาสน์ตรัสเรียกว่า ปาสาณกเจดีย์
รวมความว่า เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ แคว้นมคธ
คำว่า จากพราหมณ์ 16 คน ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้แก่ ปิงคิยพราหมณ์
เป็นที่ปรารถนา ประพฤติถูกใจ เป็นคนรับใช้ของพราหมณ์พาวรี อธิบายว่า พราหมณ์
เหล่านั้นมี 16 คน รวมทั้งปิงคิยมาณพ รวมความว่า จากพราหมณ์ 16 คน
ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พราหมณ์ 16 คนเหล่านั้น พึงเป็นที่ปรารถนา ประพฤติถูก
พระทัย เป็นปริจาริกาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าได้ รวมความว่า จากพราหมณ์
16 คน ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1131-1137/550-551

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :333 }