เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 16. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
ทำให้ง่าย ประกาศธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น ฯลฯ และปฏิปทาเครื่องดำเนินไป
สู่นิพพาน
คำว่า ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ ได้แก่ ซึ่งข้าพระองค์พึงรู้ได้ พึงรู้
แจ่มแจ้ง พึงรู้เฉพาะ พึงแทงตลอด พึงบรรลุ พึงถูกต้อง พึงทำให้แจ้งได้ รวมความว่า
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
คำว่า ที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ อธิบายว่า ที่อันเป็นเครื่องละ คือ
เป็นเครื่องเข้าไปสงบ เป็นเครื่องสลัดทิ้ง เป็นเครื่องระงับชาติชราและมรณะ คือ
อมตนิพพานในโลกนี้ รวมความว่า ที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ทิศใหญ่ 4 ทิศน้อย 4 ทิศเบื้องบน 1
ทิศเบื้องล่าง 1 เหล่านี้รวมเป็น 10
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
[92] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (4)
คำว่า เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
ตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต ได้แก่ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต คือ ผู้ไปตาม
ตัณหา ผู้ไปตามอำนาจตัณหา ผู้ซ่านไปตามตัณหา ผู้จมอยู่ในตัณหา ผู้ถูกตัณหา
ครอบงำ มีจิตถูกตัณหายึดครอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :330 }