เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความ ต้องการปัญหาจึงมาเฝ้า ฯลฯ ข้อนี้จึงเป็นภาระของพระองค์ รวมความว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
คำว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร อธิบายว่า บุคคลผู้พิจารณาเห็น คือ
ประจักษ์แจ้ง เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งอย่างไร รวม
ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร
คำว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น อธิบายว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น คือ ไม่แลเห็น ไม่
ประสบ ไม่พบ ไม่ได้เฉพาะ รวมความว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น
[88] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น (4)

ว่าด้วยโลก
คำว่า โลก ในคำว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ได้แก่ โลกนรก
โลกในกำเนิดเดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก
ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์
ตรัสว่า ‘โลก โลก’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงตรัสว่า โลก พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :309 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ที่เราเรียกว่า ‘โลก’ เพราะจะต้องแตกสลาย
ก็อะไรเล่าจะต้องแตกสลาย คือ จักษุแลต้องแตกสลาย รูปต้องแตกสลาย จักขุ
วิญญาณต้องแตกสลาย จักขุสัมผัสต้องแตกสลาย แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนา(เป็นทุกข์ก็มิใช่เป็นสุขก็มิใช่) ที่เกิดขึ้นเพราะมีจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย
ต้องแตกสลาย โสตะต้องแตกสลาย เสียงต้องแตกสลาย ฆานะต้องแตกสลาย
กลิ่นต้องแตกสลาย ชิวหาต้องแตกสลาย รสต้องแตกสลาย กายต้องแตกสลาย
โผฏฐัพพะต้องแตกสลาย มโนต้องแตกสลาย ธรรมารมณ์ต้องแตกสลาย มโน-
วิญญาณต้องแตกสลาย มโนสัมผัสต้องแตกสลาย แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา
อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ต้องแตกสลาย ภิกษุ
ที่เราเรียกว่า ‘โลก’ เพราะจะต้องแตกสลาย เป็นอย่างนี้”1
คำว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า อธิบายว่า บุคคลย่อม
พิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่าด้วยเหตุ 2 ประการ คือ
1. ด้วยการกำหนดเห็นสังขารไม่เป็นไปตามอำนาจ
2. ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารเป็นของว่างเปล่า
บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยการกำหนดเห็นสังขารไม่
เป็นไปตามอำนาจ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมไม่ได้อำนาจในรูป อำนาจในเวทนา อำนาจในสัญญา
อำนาจในสังขาร อำนาจในวิญญาณ
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ถ้ารูป
นี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า
“รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย” ภิกษุทั้งหลาย ก็
เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า
“รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

เชิงอรรถ :
1 สํ.สฬา. (แปล) 18/82/75

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :310 }