เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก ได้แก่ พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ รวมความว่า
พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
คำว่า ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์ อธิบายว่า ชาวโลกไม่ทราบ
ไม่รู้ คือ ไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้เฉพาะความเห็น คือ ความถูกใจ
ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของพระองค์ว่า “พระผู้มีพระภาคนี้
ทรงมีความเห็นอย่างนี้ มีความถูกใจอย่างนี้ มีความพอใจอย่างนี้ มีลัทธิอย่างนี้
มีอัธยาศัยอย่างนี้ มีความประสงค์อย่างนี้” รวมความว่า ย่อมไม่ทราบชัดความ
เห็นของพระองค์
คำว่า ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเพียบ
พร้อมด้วยพระยศ จึงชื่อว่าผู้มีพระยศ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ชาวโลกสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อ
ว่าผู้มีพระยศ รวมความว่า ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์จึง
กราบทูลว่า
โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ
[87] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น (3)
คำว่า ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้ อธิบายว่า ผู้ทรงมีปกติเห็น
ธรรมอันงาม คือ เห็นธรรมอันเลิศ เห็นธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันวิเศษสุด
เห็นธรรมชั้นแนวหน้า เห็นธรรมสูงสุด เห็นธรรมอันยอดเยี่ยมอย่างนี้ รวมความว่า
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :308 }