เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรง
ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้งก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ1
พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
คำว่า ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี (ถ้าผู้
ใดถามปัญหา) ถึง 3 ครั้ง จะทรงพยากรณ์ อธิบายว่า ข้าพระองค์เรียนรู้มา คือ
ทรงจำมา กำหนดมา อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้า(ถ้า) ผู้ใดทูลถามปัญหาควรแก่เหตุ
ถึง 3 ครั้ง จะทรงพยากรณ์ จะไม่ทรงปฏิเสธ

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่า เทพฤๅษี
คำว่า ผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นทั้งเทพ
เป็นทั้งฤๅษี จึงชื่อว่าทรงเป็นเทพฤๅษี พระราชาผนวชก็เรียกกันว่า ราชฤๅษี
พราหมณ์บวชก็เรียกกันว่า พราหมณ์ฤๅษี ฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น ทรงเป็น
ทั้งเทพเป็นทั้งฤๅษี

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม.(แปล) 29/191/546,ขุ.ป. 31 /121 /136-137

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :305 }