เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี เหมือนในกอ
บัวเขียว ในกอบัวแดง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอก
บัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่
เสมอผิวน้ำ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นระดับน้ำ น้ำไม่ติดเปื้อนอยู่เลย ฉันใด พระผู้มีพระภาค
เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อย
ในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน
มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็น
ผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า
“บุคคลนี้มีราคจริต บุคคลนี้มีโทสจริต บุคคลนี้มีโมหจริต บุคคลนี้มีวิตกจริต
บุคคลนี้มีสัทธาจริต บุคคลนี้มีญาณจริต” พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสอสุภกถาแก่
บุคคลราคจริต ตรัสการเจริญเมตตาแก่บุคคลโทสจริต ย่อมทรงแนะนำบุคคล
โมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเล่าเรียน การไต่ถาม การฟังธรรมตามกาล การสนทนา
ธรรมตามกาล การอยู่ร่วมกับครู ย่อมตรัสอานาปานัสสติแก่บุคคลวิตกจริต
ตรัสบอกนิมิตที่น่าเลื่อมใส ความตรัสรู้ชอบของพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดี
แห่งพระธรรม การปฏิบัติชอบของพระสงฆ์และศีลของตนที่น่าเลื่อมใสแก่บุคคลสัทธา-
จริต ย่อมตรัสธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา มีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์
มีอาการเป็นอนัตตาแก่บุคคลญาณจริต (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักขุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น1
พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 วิ.ม. 4/8/9, ที.ม. 10 /70/34, ม.มู. 12/282/243, ม.ม. 13/338/320, สํ.ส. 15/172/165,
ขุ.ม. (แปล) 29/191/545-546

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :304 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรง
ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้งก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ1
พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
คำว่า ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี (ถ้าผู้
ใดถามปัญหา) ถึง 3 ครั้ง จะทรงพยากรณ์ อธิบายว่า ข้าพระองค์เรียนรู้มา คือ
ทรงจำมา กำหนดมา อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้า(ถ้า) ผู้ใดทูลถามปัญหาควรแก่เหตุ
ถึง 3 ครั้ง จะทรงพยากรณ์ จะไม่ทรงปฏิเสธ

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่า เทพฤๅษี
คำว่า ผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นทั้งเทพ
เป็นทั้งฤๅษี จึงชื่อว่าทรงเป็นเทพฤๅษี พระราชาผนวชก็เรียกกันว่า ราชฤๅษี
พราหมณ์บวชก็เรียกกันว่า พราหมณ์ฤๅษี ฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น ทรงเป็น
ทั้งเทพเป็นทั้งฤๅษี

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม.(แปล) 29/191/546,ขุ.ป. 31 /121 /136-137

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :305 }