เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์(ผู้สมควร
บรรลุธรรม) และอภัพพสัตว์(ผู้ไม่สมควรบรรลุธรรม) โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน
พระพุทธญาณ
ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติมิติ-
มิงคละ1 ย่อมเป็นไปภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายในพระญาณ
ของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนามว่า
เวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ
พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่
เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา
ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยว
ทำลายทิฏฐิผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อมเข้าไป
เฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูกดึงดูด
ด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค โดยที่แท้พระผู้มีพระภาคย่อม
ทรงรุ่งเรืองด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วย
ปัญญาจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์
ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ
มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย

เชิงอรรถ :
1 ปลาทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นปลาขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิงคละสามารถกลืนกินปลาติมิได้และปลาติมิติมิงคละ
มีขนาดลำตัวใหญ่ถึง 500 โยชน์ และสมารถกลืนกินปลาติมิงคละได้ (ขุ.ม.อ. 69/297)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :303 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี เหมือนในกอ
บัวเขียว ในกอบัวแดง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอก
บัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่
เสมอผิวน้ำ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นระดับน้ำ น้ำไม่ติดเปื้อนอยู่เลย ฉันใด พระผู้มีพระภาค
เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อย
ในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน
มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็น
ผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า
“บุคคลนี้มีราคจริต บุคคลนี้มีโทสจริต บุคคลนี้มีโมหจริต บุคคลนี้มีวิตกจริต
บุคคลนี้มีสัทธาจริต บุคคลนี้มีญาณจริต” พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสอสุภกถาแก่
บุคคลราคจริต ตรัสการเจริญเมตตาแก่บุคคลโทสจริต ย่อมทรงแนะนำบุคคล
โมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเล่าเรียน การไต่ถาม การฟังธรรมตามกาล การสนทนา
ธรรมตามกาล การอยู่ร่วมกับครู ย่อมตรัสอานาปานัสสติแก่บุคคลวิตกจริต
ตรัสบอกนิมิตที่น่าเลื่อมใส ความตรัสรู้ชอบของพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดี
แห่งพระธรรม การปฏิบัติชอบของพระสงฆ์และศีลของตนที่น่าเลื่อมใสแก่บุคคลสัทธา-
จริต ย่อมตรัสธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา มีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์
มีอาการเป็นอนัตตาแก่บุคคลญาณจริต (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักขุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น1
พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 วิ.ม. 4/8/9, ที.ม. 10 /70/34, ม.มู. 12/282/243, ม.ม. 13/338/320, สํ.ส. 15/172/165,
ขุ.ม. (แปล) 29/191/545-546

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :304 }