เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มีความ
สามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ทรงละ
ภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้าแล้ว จึงชื่อว่าผู้สักกะ
คำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ 2 ครั้งแล้ว อธิบายว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม คือ ได้ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
2 ครั้งแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ 2 ครั้งแล้ว
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า โมฆราช เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ1 รวมความว่า
ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้
คำว่า มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคผู้มี
พระจักษุ มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า มิได้ทรงพยากรณ์ คือ
มิได้บอก มิได้แสดง มิได้บัญญัติ มิได้กำหนด มิได้เปิดเผย มิได้จำแนก มิได้
ทำให้ง่าย มิได้ทรงประกาศแก่ข้าพระองค์

ว่าด้วยพระจักษุ 5 ชนิด
คำว่า ผู้มีพระจักษุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค มีพระจักษุด้วยพระจักษุ
5 ชนิด คือ
1. มีพระจักษุด้วยมังสจักขุบ้าง 2. มีพระจักษุด้วยทิพพจักขุบ้าง
3. มีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุบ้าง 4. มีพระจักษุด้วยพุทธจักขุบ้าง
5. มีพระจักษุด้วยสมันตจักขุบ้าง

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/44

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :299 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร
คือ ในพระมังสจักขุของพระผู้มีพระภาคมีสีอยู่ 5 สี คือ (1) สีเขียว
(2) สีเหลือง (3) สีแดง (4) สีดำ (5) สีขาว ณ ที่ที่มีขนพระเนตรขึ้น มีสีเขียว
เขียวสนิท น่าชม น่าดู ดุจดอกผักตบ ต่อจากนั้น ก็เป็นสีเหลือง เหลืองสนิท
สีเหมือนทองคำ น่าชม น่าดู ดุจดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของพระ
ผู้มีพระภาคมีสีแดง แดงสนิท น่าชม น่าดู ดุจสีปีกแมลงทับ กลางดวงพระเนตร
มีสีดำ ดำเข้ม ไม่เศร้าหมอง สนิท น่าชม น่าดู ดุจสีสมอดำ ต่อจากนั้น เป็นสีขาว
ขาวสนิท เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู ดุจสีดาวประกายพฤกษ์ พระผู้มีพระภาค
มีพระมังสจักขุนั้นอยู่โดยปกติ เนื่องในพระอัตภาพ เกิดด้วยสุจริตกรรมที่ทรงสั่งสม
มาในภพก่อน ทรงมองเห็นตลอด 1 โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ใน
เวลาที่มีความมืดประกอบด้วยองค์ 4 คือ (1) ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว (2) เป็นวัน
อุโบสถข้างแรม (3) ป่าชัฏรกทึบ (4) มีเมฆก้อนใหญ่ผุดขึ้นมา ในความมืดที่
ประกอบด้วยองค์ 4 อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงมองเห็นได้ตลอด 1 โยชน์โดยรอบ
ไม่มีหลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์มาปิดกั้นการเห็นรูป
ทั้งหลายได้ หากบุคคลเอางาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมายแล้วใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา
พระผู้มีพระภาคก็ทรงสามารถหยิบเอางาเมล็ดนั้นขึ้นมาได้ พระมังสจักขุตามปกติ
ของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยมังสจักขุ
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต
ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุอันหมดจดล่วงจักษุมนุษย์
ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม1 ฯลฯ และพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงประสงค์
พึงทรงเห็นได้ แม้ 1 โลกธาตุ... แม้ 2 โลกธาตุ ... แม้ 3 โลกธาตุ ... แม้ 4
โลกธาตุ ... แม้ 5 โลกธาตุ ... แม้ 10 โลกธาตุ ... แม้ 20 โลกธาตุ ... แม้ 30

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มจาก ขุ.ม. (แปล) 29/191/542

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :300 }