เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[85] (ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ 2 ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง 3 ครั้ง จะทรงพยากรณ์ (1)
คำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ 2 ครั้งแล้ว อธิบายว่า
พราหมณ์นั้นได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า 2 ครั้งแล้ว พระผู้มี-
พระภาคผู้อันพราหมณ์นั้นทูลถามปัญหาแล้ว ก็มิได้ทรงพยากรณ์ ด้วยพระดำริว่า
“ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ของพราหมณ์นี้จักมีในลำดับแห่งจักษุ”
คำว่า ผู้สักกะ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคผู้สักกะเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ จึงชื่อว่า
ผู้สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือ
หิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์
คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน พระผู้มี-
พระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะ หลายอย่าง
เหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1123-1126/548-549

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :298 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 15. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มีความ
สามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ทรงละ
ภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้าแล้ว จึงชื่อว่าผู้สักกะ
คำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ 2 ครั้งแล้ว อธิบายว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม คือ ได้ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
2 ครั้งแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ 2 ครั้งแล้ว
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า โมฆราช เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ1 รวมความว่า
ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้
คำว่า มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคผู้มี
พระจักษุ มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า มิได้ทรงพยากรณ์ คือ
มิได้บอก มิได้แสดง มิได้บัญญัติ มิได้กำหนด มิได้เปิดเผย มิได้จำแนก มิได้
ทำให้ง่าย มิได้ทรงประกาศแก่ข้าพระองค์

ว่าด้วยพระจักษุ 5 ชนิด
คำว่า ผู้มีพระจักษุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค มีพระจักษุด้วยพระจักษุ
5 ชนิด คือ
1. มีพระจักษุด้วยมังสจักขุบ้าง 2. มีพระจักษุด้วยทิพพจักขุบ้าง
3. มีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุบ้าง 4. มีพระจักษุด้วยพุทธจักขุบ้าง
5. มีพระจักษุด้วยสมันตจักขุบ้าง

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/44

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :299 }