เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 14. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่าง
นั้นเป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตาย จักถือกำเนิดในหมู่มนุษย์’
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่าง
นั้น เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตาย จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่าง
นั้น เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะหมดสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”1 รวม
ความว่า รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่
คำว่า ผู้น้อมไปแล้ว ในคำว่า ผู้น้อมไปแล้ว ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น
เป็นที่มุ่งหมาย อธิบายว่า ผู้น้อมไปสู่อากิญจัญญายตนสมาบัติ คือน้อมไปโดย
วิโมกข์ น้อมไปในสมาบัตินั้น น้อมไปสู่สมาบัตินั้น มีสมาบัตินั้นเป็นใหญ่
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “บุคคลนี้น้อมใจไปในรูป น้อมใจ
ไปในเสียง น้อมใจไปในกลิ่น น้อมใจไปในรส น้อมใจไปในโผฏฐัพพะ
น้อมใจไปในตระกูล น้อมใจไปในหมู่คณะ น้อมใจไปในอาวาส น้อมใจไปในลาภ
น้อมใจไปในยศ น้อมใจไปในสรรเสริญ น้อมใจไปในสุข น้อมใจไปในจีวร น้อม
ใจไปในบิณฑบาต น้อมใจไปในเสนาสนะ น้อมใจไปในคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
น้อมใจไปในพระสูตร น้อมใจไปในพระวินัย น้อมใจไปในพระอภิธรรม
น้อมใจไปในบังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)
น้อมใจไปในเตจีวริกังคธุดงค์(สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
ปิณฑปาติกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
สปทานจาริกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร) น้อมใจ
ไปในเอกาสนิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์(สมาทานการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์(สมาทานการงดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
อารัญญิกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร) น้อมใจไปในรุกขมูลิกังคธุดงค์(สมาทาน
การถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร) น้อมใจไปในอัพโภกาสิกังคธุดงค์(สมาทานการถืออยู่
ที่แจ้งเป็นวัตร) น้อมใจไปในโสสานิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร)

เชิงอรรถ :
1 ม.มู. 12/154/115 - 118

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :294 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 14. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
น้อมใจไปในยถาสันถติกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร)
น้อมใจไปในเนสัชชิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งเป็นวัตร) น้อมใจไปในปฐมฌาน น้อม
ใจไปในทุติยฌาน น้อมใจไปในตติยฌาน น้อมใจไปในจตุตถฌาน น้อมใจไปใน
อากาสานัญจายตนสมาบัติ น้อมใจไปในวิญญาณัญจายตนสมาบัติ น้อมใจไปใน
อากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ” รวมความ
ว่า ผู้น้อมไปแล้ว
คำว่า ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย อธิบายว่า สำเร็จมา
จากอากิญจัญญายตนสมาบัติ มีสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย มีกรรมเป็นที่มุ่งหมาย
มีวิบากเป็นที่มุ่งหมาย หนักในกรรม หนักในปฏิสนธิ
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “บุคคลนี้ มีรูปเป็นที่มุ่งหมาย
ฯลฯ มีเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเป็นที่มุ่งหมาย” รวมความว่า ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย
[84] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขารว่าเป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์นั้น
เป็นญาณอันแท้จริง (4)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :295 }