เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 14. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
คือ บุคคลผู้มีสติ เข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติใด ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว
ไม่ให้วิญญาณนั้นมี ไม่ให้มีโดยประการต่าง ๆ ให้อันตรธานไป ย่อมเห็นว่า “อะไร
น้อยหนึ่ง ย่อมไม่มี” เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอากิญจัญญายตนสมาบัติ เพราะอรรถ
ว่าอะไร น้อยหนึ่ง ย่อมไม่มี รวมความว่า ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่า
ไม่มีอะไร
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์
ขอทูลถามถึงญาณ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้สักกะ พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ ฯลฯ ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว
หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ อธิบายว่า
ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ คือ ทูลถามถึงปัญญา ทูลถามถึงความรู้ชัดของ
บุคคลนั้นว่า ญาณเป็นอย่างไร มีสัณฐานอย่างไร มีประการอย่างไร เปรียบได้กับ
อะไร บุคคลนั้นพึงปรารถนา รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอ
ทูลถามถึงญาณ
คำว่า บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร อธิบายว่า บุคคลนั้นควร
แนะนำ ควรแนะนำไปโดยวิเศษ ตามแนะนำ แนะนำให้รู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ผู้อื่นรู้จัก
ประโยชน์ ให้เพ่งพินิจ ให้พิจารณา ให้เลื่อมใสอย่างไร ได้แก่ ควรให้เกิดญาณยิ่ง ๆ
ขึ้นไปแก่เขาอย่างไร
คำว่า บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ได้แก่ บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น คือ ผู้เป็นอย่างนั้น
ผู้ดำรงอยู่อย่างนั้น ผู้เป็นประการนั้น ผู้มีส่วนอย่างนั้น ได้แก่ ผู้ได้อากิญจัญญา-
ยตนสมาบัติ รวมความว่า บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :288 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 14. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่า ไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร
[83] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย (3)

ว่าด้วยวิญญาณัฏฐิติ 7
คำว่า ซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด1 อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้
วิญญาณัฏฐิติ 4 ด้วยอำนาจอภิสังขาร ทรงรู้วิญญาณัฏฐิติ 7 ด้วยอำนาจปฏิสนธิ
พระผู้มีพระภาคทรงรู้วิญญาณัฏฐิติ 4 ด้วยอำนาจอภิสังขารอย่างไร สมจริงดังที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์) ที่เข้าถึงรูป
เมื่อดำรงอยู่ ก็มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่
ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้ ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนา ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงสัญญา ฯลฯ อีกนัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
วิญญาณที่เข้าถึงสังขาร เมื่อดำรงอยู่ ก็มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง
เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้”2 พระ
ผู้มีพระภาคทรงรู้จักวิญญาณัฏฐิติ 4 ด้วยอำนาจอภิสังขารอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงรู้วิญญาณัฏฐิติ 7 ด้วยอำนาจปฏิสนธิอย่างไร สมจริงดัง
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มีสัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน

เชิงอรรถ :
1 วิญญาณัฏฐิติ คือภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ขันธ์ที่มีวิญญาณ(ขุ.จู.อ. 83/57)
2 สํ.ข. 17/54/45

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :289 }