เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 13. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี
คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาด้วยอาการ 42 อย่างเหล่านี้ อยู่ ไม่
ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้
ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น รวมความว่า สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
คำว่า มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า มีสติสัมปชัญญะ เที่ยวไป คือ อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปอย่างนี้ รวมความว่า
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้
คำว่า วิญญาณจึงดับสนิท อธิบายว่า วิญญาณที่สหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร
วิญญาณที่สหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วยอาเนญชาภิสังขาร
จึงดับไป คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป รวมความว่า วิญญาณ
จึงดับสนิท ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ อุทัยมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
อุทยมาณวปัญหานิทเทสที่ 13 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :282 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 14. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
14. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[81] (ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว
ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง (1)
คำว่า พระองค์ใด ในคำว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ... ทรงแสดงอดีต
ธรรม อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู คือ ไม่มีครูอาจารย์ ได้ตรัสรู้
สัจจะในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน ด้วยพระองค์เอง ทรงบรรลุความเป็น
พระสัพพัญญูในสัจจะนั้น และความเป็นผู้ชำนาญในพละทั้งหลาย

ว่าด้วยการแสดงอดีตธรรม
คำว่า ทรงแสดงอดีตธรรม อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรม
อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ของพระองค์ และชนเหล่าอื่น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรมของพระองค์ อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรม คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง
3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง 30 ชาติบ้าง
40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง ฯลฯ 1,000 ชาติบ้าง ฯลฯ
100,000 ชาติบ้าง ฯลฯ หลายสังวัฏฏกัป2บ้าง ฯลฯ หลายวิวัฏฏกัป3บ้าง ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1119-1122/547-548
2 สังวัฏฏกัป คือกัปที่กำลังเสื่อม เพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายไปรวมกันอยู่ในพรหมโลก (ขุ.จู.อ. 81/50)
3 วิวัฏฏกัป คือกัปที่กำลังเจริญ เพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายกลับจากพรหมโลก (ขุ.จู.อ. 81/50)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :283 }