เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 13. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
ฯลฯ เราทำแต่ปิสุณาวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา ฯลฯ เราทำแต่
ผรุสวาจาไม่ทำความงดเว้นจากผรุสวาจา ฯลฯ เราทำแต่สัมผัปปลาปะ ไม่ทำ
ความงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ฯลฯ เราทำแต่อภิชฌา ไม่ทำอนภิชฌา ฯลฯ
เราทำแต่พยาบาท ไม่ทำอัพยาบาท ฯลฯ เราทำแต่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ”
ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะไม่ทำ
เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เรามิ
ได้รักษาศีลให้บริบูรณ์” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า
“เราไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 ฯลฯ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ฯลฯ
ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ ฯลฯ ไม่หมั่นประกอบสติสัมปชัญญะ
ฯลฯ ไม่เจริญสติปัฏฐาน 4 ฯลฯ ไม่เจริญสัมมัปปธาน 4 ฯลฯ ไม่เจริญอิทธิบาท
4 ฯลฯ ไม่เจริญอินทรีย์ 5 ฯลฯ ไม่เจริญพละ 5 ฯลฯ ไม่เจริญโพชฌงค์ 7 ฯลฯ
ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ฯลฯ ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ละสมุทัย ไม่เจริญมรรค
เราไม่ทำนิโรธให้ประจักษ์แจ้ง”
คำว่า และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง อธิบายว่า เครื่องปิด เครื่องกั้น คือ
การละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับความคะนองได้ เป็นอมตนิพพาน
รวมความว่า และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจ
ในกามและโทมนัสทั้ง 2 อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :275 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 13. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
[76] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา (3)
คำว่า อุเบกขา ในคำว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ ได้แก่ อุเบกขา
คือ ความเพิกเฉย ความเพิกเฉยอย่างยิ่ง ความที่จิตสงบ ความที่จิตสงัด ความ
ที่จิตเป็นกลางในจตุตถฌาน
คำว่า สติ ได้แก่ สติ คือ ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ ปรารภอุเบกขา
ในจตุตถฌาน
คำว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ อธิบายว่า อุเบกขาและสติใน
จตุตถฌาน สะอาด คือ หมดจด บริสุทธิ์ สะอาดพร้อม ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส
เครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่
หวั่นไหว รวมความว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ
คำว่า ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น อธิบายว่า สัมมาสังกัปปะ ตรัสเรียกว่า
ธรรมตรรก สัมมาสังกัปปะนั้น เป็นเบื้องต้น คือ เป็นเบื้องหน้า เป็นหัวหน้าแห่ง
อัญญาวิโมกข์ รวมความว่า ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิตรัสเรียกว่า ธรรมตรรก สัมมาทิฏฐินั้น เป็นเบื้องต้น
คือ เป็นเบื้องหน้า เป็นหัวหน้าแห่งอัญญาวิโมกข์ รวมความว่า ที่มีธรรมตรรก
เป็นเบื้องต้น อย่างนี้บ้าง
คำว่า เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ อธิบายว่า ความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล
ตรัสเรียกว่า อัญญาวิโมกข์ เราจะบอก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล รวมความว่า เราจะ
บอกอัญญาวิโมกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :276 }