เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 13. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ เพราะทรงเป็นผู้สงัดจาก
ความขวนขวายทั้งปวงแล้ว ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว
ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย (และ)ภพใหม่ก็ไม่มีอีก
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ผู้ทรงมีฌาน
ปราศจากธุลี ประทับนั่งอยู่
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ
คำว่า อุทัย เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ1 รวมความว่า
ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้
คำว่า ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า กิจน้อยใหญ่ คือ
กิจที่ควรทำและไม่ควรทำ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ภิกษุผู้ไม่มีทิฏฐิที่ทำให้ตกไป ตัดกระแสขาดแล้ว
ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน2

ว่าด้วยอาสวะ 4
คำว่า ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า
คำว่า อาสวะ ได้แก่ อาสวะ 4 อย่าง คือ
1. กามาสวะ
2. ภวาสวะ
3. ทิฏฐาสวะ
4. อวิชชาสวะ

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 1/44
2 ขุ.สุ. 25/721/474

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :270 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 13. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
อาสวะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีอาสวะ รวมความว่า ผู้ทรงทำกิจ
สำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
คำว่า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงถึงฝั่งได้
ด้วยความรู้ยิ่ง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งได้ด้วยการละ ถึงฝั่งได้ด้วยการ
เจริญภาวนา ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าสมาบัติ ถึงฝั่งได้ด้วย
ความรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการละ
กิเลสทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญอริยมรรค 4 ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้งนิโรธ
ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าถึงสมาบัติ 8
พระองค์ทรงถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยศีล ทรงถึงความชำนาญ
บรรลุบารมีในอริยสมาธิ ทรงถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยปัญญา ทรงถึง
ความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยวิมุตติ
พระองค์ทรงถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุ
ปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง
บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย
บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ
บรรลุที่ดับ พระผู้มีพระภาคนั้นทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรม
แล้ว ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก
รวมความว่า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว คือ ปรารถนาจะทูลถามปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว
มีความปรารถนาจะฟังปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะ
ทูลถามจึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :271 }