เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 12. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล
[73] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้
ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง (4)
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด... ไม่พึงเข้าไป
ยึดถือ อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ภิกษุเมื่อมองเห็นโทษแห่งตัณหาเครื่องยึดมั่นนี้ รวมความว่า
เพราะฉะนั้น
คำว่า เมื่อรู้ชัด อธิบายว่า รู้อยู่ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอยู่
ได้แก่ รู้อยู่ รู้ชัด รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า ไม่พึงเข้าไปยึดถือ อธิบายว่า ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือ
ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นรูป ฯลฯ ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือ ไม่
พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ
คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ รวมความว่า
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด ... ไม่พึงเข้าไปยึดถือ
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ ... เครื่องกังวลในโลก
ทั้งปวง ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นเสขะ
คำว่า ควรเป็นผู้มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ (1) ชื่อว่ามีสติ
เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
ผู้มีสติ รวมความว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :265 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 12. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เครื่องกังวล ได้แก่ ขันธ์ที่เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร
เป็นวิญญาณไร ๆ
คำว่า ในโลกทั้งปวง ได้แก่ ในอบายโลกทั้งปวง ในมนุษยโลกทั้งปวง
ในเทวโลกทั้งปวง ในขันธโลกทั้งปวง ในธาตุโลกทั้งปวง ในอายตนโลกทั้งปวง
รวมความว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ ... เครื่องกังวล ในโลกทั้งปวง
คำว่า เพ่งพิจารณา ... ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น อธิบายว่า
ชนเหล่าใดยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ฯลฯ ได้แก่ ย่อมยึดถือ
เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ
ฯลฯ คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ
ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
คำว่า ว่า เป็นคำสนธิ ฯลฯ คำว่า ว่า นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลัง
เข้าด้วยกัน
คำว่า เพ่งพิจารณา ได้แก่ เพ่งพิจารณา แลเห็น มองเห็น เห็น มองดู
เพ่งพินิจ พิจารณา รวมความว่า เพ่งพิจารณา ... ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า หมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช เป็นชื่อของ
สัตว์
คำว่า บ่วงแห่งมัจจุราช อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร เรียกว่า
บ่วงแห่งมัจจุราช
หมู่สัตว์ ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุราช
คือ บ่วงแห่งมาร บ่วงแห่งมรณะ อธิบายว่า สิ่งของที่ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด
เกี่ยวพัน ติดตรึงอยู่ที่ตะปูข้างฝา หรือที่เครื่องแขวนทำด้วยงาช้าง ฉันใด หมู่สัตว์
ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุราช คือบ่วงแห่งมาร
บ่วงแห่งมรณะ ฉันนั้น รวมความว่า หมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :266 }