เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 11. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
[66] (ท่านชตุกัณณิทูลถามว่า)
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย
ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ
และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด (2)
คำว่า พระผู้มีพระภาค ในคำว่า อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกาม
ทั้งหลาย (ด้วยพระเดช) ทรงเคลื่อนไหว (อิริยาบถ) อยู่ เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม (2)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม
พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละ ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ
ควบคุม ย่ำยีกิเลสกามได้แล้ว เสด็จไป ประทับอยู่ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป
ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไปอยู่ รวมความว่า
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย (ด้วยพระเดช) ทรงเคลื่อนไหว
(อิริยาบถ)อยู่
คำว่า เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี อธิบายว่า
พระสุรียะเรียกว่า ดวงอาทิตย์ พื้นแผ่นดินเรียกว่า ปฐพี
ดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง คือ ประกอบด้วยแสงสว่าง ครอบงำ ข่มขี่ ท่วมทับ
ปกคลุม แผดเผาแผ่นดิน ขจัดความมืด คือกำจัดความมืดมิดในอากาศทั้งหมดแล้ว
ส่องแสงสว่างโคจรไปในอากาศบนท้องฟ้าอันโปร่งใส ฉันใด พระผู้มีพระภาคมีพระ
เดชคือญาณ คือ ประกอบด้วยพระเดชคือญาณ ทรงกำจัดอภิสังขารสมุทัยทั้งปวง
ฯลฯ ความมืดคือกิเลส ความมืดคืออวิชชา ทรงส่องแสงสว่างคือพระญาณ ทรง
กำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละ ครอบงำ ข่มขี่ ท่วมทับ ควบคุม ย่ำยีกิเลสกามได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :249 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 11. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
เสด็จไป ประทับอยู่ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ
ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไป ฉันนั้น รวมความว่า เหมือน
ดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
คำว่า พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ... แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วย
เถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์เป็นผู้มีปัญญาน้อย คือ มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญา
น่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบ ส่วนพระองค์มีพระปัญญามาก คือ มีพระปัญญา
กว้างขวาง มีพระปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มี
พระปัญญาเพิกถอนกิเลส
แผ่นดินท่านเรียกว่า ภูริ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญาอันกว้าง
ขวาง แผ่ไป เสมอด้วยแผ่นดินนั้น รวมความว่า พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ...
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ธรรม ... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรม คือ พรหมจรรย์
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน 4 ฯลฯ นิพพาน
และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน
คำว่า ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง ได้แก่ ซึ่งข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว
รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง รวมความว่า
โปรดตรัสบอกธรรม... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
คำว่า ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ อธิบายว่า ธรรมเป็นเครื่อง
ละ คือ ธรรมเป็นเครื่องเข้าไปสงบ เป็นเครื่องสลัดทิ้ง เป็นเครื่องระงับชาติชรา
และมรณะในโลกนี้ คืออมตนิพพาน รวมความว่า ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :250 }