เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 11. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศสันติบท คือ ตาณบท เลณบท สรณบท อภยบท อัจจุตบท
อมตบท นิพพานบท
คำว่า ข้าแต่พระสหชเนตร อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัสเรียกว่า
พระเนตร พระเนตรและความเป็นพระชินเจ้าของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกัน ที่โคนต้นโพธิ์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงมี
พระนามว่าพระสหชเนตร รวมความว่า ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรด
ตรัสบอกสันติบท
คำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้น
แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ธรรมแท้จริง ได้แก่ ธรรม
เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลาย
กำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ1
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก...นั้นแก่ข้าพระองค์ ได้แก่ ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก ฯลฯ ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์ โปรดตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :248 }