เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 11. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้
ก้าวล่วงทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร
ทรงมีความเพียร มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง
เรียกได้ว่า ทรงเป็นอย่างนั้น
คำว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่าพระองค์ไม่มีความใคร่กาม
อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม (2)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ เรียกว่ากิเลสกาม1
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละกิเลสกามได้แล้ว เพราะ
เป็นผู้ทรงกำหนดรู้วัตถุกาม เพราะทรงละกิเลสกามได้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงไม่
ทรงใคร่ในกาม คือ ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังในกาม
ชนเหล่าใดใคร่กาม ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกาม ชนเหล่านั้น ชื่อว่า
ยังใคร่กาม กำหนัดในราคะ มีความสำคัญในสัญญา
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใคร่กาม ไม่ทรงปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังกาม
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีกาม คือ ทรงปราศจากกาม สละกามแล้ว
คายกามแล้ว ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว คลายราคะแล้ว
ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐ
เสวยสุขอยู่ รวมความว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่าพระองค์ไม่มีความ
ใคร่กาม
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า
ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก คำว่า ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มี
ความเคารพและความยำเกรง

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/66-67

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :246 }