เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 9. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ในกามและภพ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม (2)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ 2 คือ (1) กรรมภพ (2) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
ฯลฯ นี้ชื่อว่าภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ2
คำว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ข้องในกามและภพ อธิบายว่า
บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้อง คือ ไม่เกาะติด ไม่เกี่ยวพัน ไม่พัวพัน ออก
สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องในกามและภพ มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
รวมความว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ข้องในกามและภพ ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ โตเทยยมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
โตเทยยมาณวปัญหานิทเทสที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/66-67
2 ดูรายละเอียดข้อ 24/138

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :233 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 10. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
10. กัปปมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[61] (ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก (1)

ว่าด้วยสังสารวัฏ
คำว่า เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ อธิบายว่า สงสาร ตรัสเรียกว่า
สระ คือ การมา2 การไป3 การไปและการมา ความตาย คติ4 ภพน้อยภพใหญ่
จุติ อุปบัติ5 ความเกิด ความดับ ชาติ ชรา มรณะ ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารไม่
ปรากฏ ที่สุดเบื้องปลายก็ไม่ปรากฏ เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่แล้ว คือ ดำรงมั่นแล้ว
ติดแล้ว ติดแน่นแล้ว ติดพันแล้ว ติดใจแล้วในสงสารอันเป็นท่ามกลาง
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารไม่ปรากฏ อย่างไร
คือ วัฏฏะเป็นไปแล้วสิ้นชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1099-1102/544
2 การมา ในที่นี้หมายถึงการมาจากเบื้องต้นและที่สุด (ขุ.จู.อ. 61/36)
3 การไป ในที่นี้หมายถึงการไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น (ขุ.จู.อ. 61/36)
4 คติ ในที่นี้หมายถึงการบังเกิด (ขุ.จู.อ. 61/36)
5 อุปบัติ ในที่นี้หมายถึงการเกิดขึ้นต่อจากการเคลื่อน (ขุ.จู.อ. 61/36)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :234 }