เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 9. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
อธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอด พระมุนีได้อย่างไร รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ
ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
คำว่า นั้น ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัส
บอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ปัญหาที่ข้าพระองค์
ทูลถาม ที่ข้าพระองค์ทูลขอ ที่ข้าพระองค์ทูลอัญเชิญ ที่ข้าพระองค์ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก (ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้ง อธิบายว่า
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัส
เรียกว่า สมันตจักขุ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น พระตถาคต ชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ1
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
[60] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้ (4)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 38/178-179

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :231 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 9. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง อธิบายว่า บุคคลนั้นไม่มี
ตัณหา ทั้งไม่มีตัณหา ไม่หวัง คือ ไม่ต้องการ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย
ไม่มุ่งหวังในรูป ... ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง รวมความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มี
ความหวัง ทั้งไม่หวัง
คำว่า ผู้มีปัญญา ในคำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริ
ด้วยปัญญา ได้แก่ บัณฑิต มีปัญญา คือ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มี
ปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา อธิบายว่า ไม่ดำริถึงตัณหาหรือทิฏฐิ
ด้วยญาณในสมาบัติ 8 อภิญญา 5 หรือมิจฉาญาณ คือ ไม่ให้ความดำริถึง
ตัณหาหรือทิฏฐิเกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
คำว่า โตเทยยะ เธอจงรู้จัก ... ว่าเป็นมุนี อย่างนี้ อธิบายว่า
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ บุคคลก้าวล่วงกิเลส
เครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี1
คำว่า โตเทยยะ เธอจงรู้จัก ... ว่าเป็นมุนี อย่างนี้ อธิบายว่า โตเทยยะ
เธอจงรู้ คือ จงรู้เฉพาะ รู้แจ่มแจ้ง แทงตลอด ว่าเป็นมุนี อย่างนี้ รวมความว่า
โตเทยยะ เธอจงรู้จัก ... ว่าเป็นมุนี อย่างนี้
คำว่า เครื่องกังวล ในคำว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ข้องในกาม
และภพ ได้แก่ เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ
เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวล
คือทุจริต เครื่องกังวลเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า
บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 21/127-129

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :232 }