เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 9. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร อธิบายว่า พราหมณ์ทูลถามวิโมกข์ว่า
วิโมกข์ของเขาเป็นเช่นไร คือ มีสัณฐานอย่างไร มีประการอย่างไร เปรียบได้กับอะไร
ที่บุคคลพึงปรารถนา รวมความว่า วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร
[58] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี (2)
คำว่า ใด ในคำว่า กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด ได้แก่ ในบุคคลใด คือ
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1
คำว่า ไม่อยู่ อธิบายว่า กามทั้งหลายย่อมไม่อยู่ คือ ไม่อยู่ร่วม ไม่อยู่อาศัย
ไม่อยู่ครองในบุคคลใด รวมความว่า กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
คำว่า โตเทยยะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/66-67

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :227 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 9. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ1 รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โตเทยยะ
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา
คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า บุคคลใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด อธิบายว่า ตัณหาไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้แก่บุคคลใด ได้แก่ ตัณหาอันบุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
คำว่า และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว อธิบายว่า วิจิกิจฉา ตรัสเรียกว่า
ความสงสัย ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ฯลฯ ความหวาดหวั่นแห่งจิต ความ
ติดขัดในใจ2
คำว่า บุคคลใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว อธิบายว่า บุคคลใดข้าม คือ
ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นความสงสัยได้แล้ว รวมความว่า
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
คำว่า วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี อธิบายว่า บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วนั้น
พึงหลุดพ้นด้วยวิโมกข์ใด วิโมกข์อื่นจากนั้น ของบุคคลนั้นย่อมไม่มี (เพราะ) บุคคล
นั้นได้ทำกิจที่ควรทำด้วยวิโมกข์เสร็จแล้ว รวมความว่า วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้น
ย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48
2 ดูรายละเอียดข้อ 32/164

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :228 }