เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
ได้แก่ ผู้เห็นธรรม คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม
ผู้เห็นแจ้งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า ดับกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้
ราคะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โทสะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลส
ได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โมหะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โกธะ
ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทดับแล้ว รวมความว่า เห็นธรรม
ดับกิเลสได้แล้ว
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า ชนเหล่านั้น เป็นผู้สงบทุกเมื่อ อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ
เพราะสงบโมหะ คือ สงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับได้แล้ว ระงับได้แล้ว
เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ อุปนาหะ ฯลฯ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทแล้ว รวมความว่า เป็นผู้สงบ
คำว่า เหล่านั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทุกเมื่อ ตลอดกาลทั้งปวง
ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน
ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น
ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาลก่อนภัต
หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน
ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย รวมความว่า ชนเหล่านั้น
เป็นผู้สงบทุกเมื่อ
คำว่า ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว อธิบายว่า ตัณหา ตรัส
เรียกว่า วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูล
คือโลภะ
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา1

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 22/132

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :224 }