เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันไม่แปรผัน ได้แก่ เที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไป
เป็นธรรมดา รวมความว่า นิพพานบทอันไม่แปรผัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้
[56] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้น เป็นผู้สงบทุกเมื่อ
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว (4)
คำว่า นั้น ในคำว่า ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว ได้แก่ อมตนิพพาน
อันเป็นธรรมระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็น
ที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า รู้แล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว
ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ฯลฯ รู้แล้ว ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่ง
หนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า เหล่าใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ผู้มีสติ ได้แก่ ผู้มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ (1) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญ
สติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
คำว่า เห็นธรรม ในคำว่า เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า ผู้เห็นธรรม
คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :223 }